22.01.2025
กิจกรรมบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “Building Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem”
คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่สั่งสมมายาว ถึงขนาดที่หลายคนมองว่าคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก
.
แต่มันเป็นความจริงใช่ไหม? เพราะข้อเท็จจริงดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับคำกล่าวดังกล่าว เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีหลากหลายหน่วยงานที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขปัญหานี้
.
ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีหน่วยงาน กฎหมาย และนโยบายหลากหลายฉบับที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขและป้องกันการเกิดคอร์รัปชันที่มีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่วันนี้ทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ แต่บางครั้งภาครัฐก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งนั่นทำให้ภาคประชาชน และประชาสังคมต้องเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น
.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “Building Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem” ในวันที่ 16 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คุณจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ รศ. ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ
.
ภายในงาน ได้มีการจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะโดยมี Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School เป็นผู้บรรยายหลัก ตามมาด้วยกิจกรรมหารือความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยมีหน่วยงานจากทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 11 หน่วยงาน
.
Professor Matthew ชี้ให้เห็นว่าการมีสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและภาคประชาสังคมจะช่วยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้รับประโยชน์สำคัญคือ 1. การตรวจจับและสืบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. รับทราบถึงความต้องการและความคาดหวังของประชาชน 3. มีกระบอกเสียงช่วยอธิบายสังคม และ 4. มีเกราะกำบังการทำงานของภาครัฐที่มากขึ้นภายใต้ความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคม
.
ในขณะที่สะพานเชื่อมความร่วมมือนี้ยังให้ประโยชน์สำคัญกับภาคประชาสังคมคือ 1. ได้รับประโยชน์เชิงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. มีวิธีการที่จะโน้มน้าวและส่งต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างมีหลักฐานข้อมูลชัดเจนขึ้น และ 3. สามารถผลักดันร่างกฎหมายและนโยบายได้ง่ายขึ้นผ่านความช่วยเหลือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
.
สำหรับในส่วนการเสวนาภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” ได้รับเกียรติร่วมเเลกเปลี่ยนการทำงานจาก Ms. Annika Wythes ที่ปรึกษาภูมิภาคด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน จาก UNODC พันตรีหญิง นิมมาน์ แก่นกำจร สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และพันตำรวจตรีหญิงมนัสนันท์ กันทะสี อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วงเสวนานี้สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละหน่วยงานมีโครงการหรือกิจกรรมด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่คาบเกี่ยวกันในหลายมิติ ซึ่งสามารถผนวกกิจกรรมเหล่านี้มาดำเนินการร่วมกันได้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการฟอกเงิน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทั้ง 4 องค์การต้องการผลักดันในปีนี้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับภาคเอกชน ภาคสื่อ ภาควิชาการ และเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้นำเพื่ออนาคต (Leaders for Tomorrow) ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันให้มากขึ้น
.
กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามสำคัญที่ต่อเนื่องมาจากการการประชุมโต๊ะกลมเพื่อระดมความร่วมมือในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการปราบปราม เเละบังคับใช้กฎหมายด้านการต่อต้านการทุจริตระหว่างภาครัฐที่ทำงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ภาคสื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่ต้องการขยายความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อการสร้างระบบนิเวศน์ในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย
.
เพราะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันคือเรื่องของทุกคน ฝากติดตามกิจกรรมของศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในอนาคตกันด้วย
.
ชวนอ่านสรุปประเด็นการบรรยายสาธารณะเพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3PRhaPz
ดูทั้งหมด