จีนกระจุก เทากระจาย : มอง ‘ทุนจีนเทา’ ที่กลืนกลายอยู่ในสังคมไทยผ่านมุมมองสังคมวิทยา
18.06.2025
สรุปประเด็น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า “ทุนจีนเทา” เริ่มปรากฏในหน้าสื่อและบทสนทนาสาธารณะของสังคมไทยบ่อยขึ้น แต่มันคืออะไร ทำไมเราถึงควรใส่ใจ บทความนี้จะพาไปสำรวจว่าทุนจีนเทาคืออะไร ทำไมมันถึงแฝงตัวได้แนบเนียนในสังคมไทย และเพราะเหตุใดรัฐไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเติบโตของทุนประเภทนี้ ทั้งยังเจาะลึกว่าทุนจีนเทาไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมาย แต่คือกลยุทธ์การแปลงกายทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่ซับซ้อนและทรงพลังผ่านมุมมองทางสังคมวิทยา หากเราเข้าใจโครงสร้างที่เอื้อให้ทุนเทาเติบโต เราอาจเข้าใจวิธีป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ความปกติใหม่ (New Normal)" ที่เราต้องอยู่ร่วมโดยไม่รู้ตัว
ในปัจจุบัน การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับจีนสมัยใหม่หรือจีนร่วมสมัยในสังคมไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่อง ‘ทุนจีนเทา’ (Grey Capital) นับเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผู้คนต่างก็ให้ความสนใจ เนื่องมาจากความเชื่อมโยงของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของพื้นที่ในสังคมไทยที่ทุนจีนเทาเหล่านี้เข้าไปมีอิทธิพลและดำรงอยู่ รวมถึงมีผลกระทบสำคัญต่ออนาคตในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนด้วย ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทุนจีนเทา จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นศึกษาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของไทย โดยอาศัยมุมมองจากศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้ ในการมองประเด็นเรื่อง ‘ทุนจีนเทา’ ผ่านมุมมองของสังคมวิทยา ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการอธิบายปรากฏการณ์การแพร่หลายของทุนจีนเทาในไทยที่เป็นไปในลักษณะที่ ‘เคลื่อนไหวได้’ และสามารถ ‘สร้างตัวตน’ รวมถึง ‘ปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม’ โดยทุนจีนเทาที่มีความเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงได้เหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของสถานการณ์การเข้ามามีบทบาทของทุนจีนเทาในสังคมไทย ผ่านโครงสร้างและบริบทที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเอื้อให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถดำรงอยู่และเติบโตได้เป็นอย่างดี
จากงานเรื่อง Explaining ‘Grey Capital’: The Sociology of Transnational Chinese Companies and Crime in Thailand ของ Raymond (2024) ที่ได้วิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ทุนจีนเทาที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย และพบว่าความหมายของ ‘ทุนจีนเทา’ ในที่นี้ หมายถึง การลงทุนข้ามชาติที่เป็นส่วนผสมระหว่างธุรกิจที่ ‘ถูกกฎหมาย’ และ ‘ผิดกฎหมาย’ ในสังคมไทย ซึ่งแตกต่างจากภาพความเข้าใจของผู้คนในสังคมโดยทั่วไปที่มองว่าทุนจีนเทาจะเป็นเฉพาะเรื่องที่ผิดกฎหมายเท่านั้น เช่น การฟอกเงิน การพนันออนไลน์ กาสิโนเถื่อน การค้ามนุษย์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนจีนเทาที่มาพร้อมกับธุรกิจที่ถูกกฎหมายต่าง ๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยที่ถูกกว้านซื้อโดยนักลงทุนจีน ธุรกิจร้านอาหารที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการบังหน้าเพื่ออำพรางกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย การท่องเที่ยวในลักษณะทัวร์ศูนย์เหรียญที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการปลอมแปลงเส้นทางการเงิน หรือการจัดตั้งสมาคมหรือมูลนิธิทางวัฒนธรรมจีนเพื่อสร้างเครือข่ายกับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ซึ่งมักจะเป็นการอาศัยโครงสร้างของรัฐที่อ่อนแอ ช่องโหว่ของกฎหมาย และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในการวางรากฐาน จนทำให้ทุนจีนเทาสามารถดำเนินการอยู่ได้ในประเทศไทยและแทรกซึมไปกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง ไปจนถึงระบบและวิธีคิดของผู้คนในสังคมที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยและคุ้นชินกับทุนจีนเทาโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ บริบทของประเทศไทยที่ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของทุนจีนเทา ยังเป็นเรื่องของลักษณะและสภาพบริบททางสังคมบางประการที่เอื้อให้ทุนจีนเทาเหล่านี้เติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเส้นสายแบบไทย การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สม่ำเสมอ และระบบตรวจสอบที่ขาดความโปร่งใส ซึ่งบริบทต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกอธิบายโดยอาศัยแนวคิดเรื่อง “ความคล้ายคลึงของโครงสร้าง” (Isomorphism) จากมุมมองของสังคมวิทยาองค์การ ที่อธิบายถึงการพัฒนาขององค์กรหรือระบบต่าง ๆ ว่ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน เมื่ออยู่ในบริบทแวดล้อมหรือโครงสร้างที่ใกล้เคียงหรือเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ผ่านการเติบโตของทุนจีนเทาในสังคมไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าการที่โครงสร้างของรัฐแบบไทยและจีนมีความคล้ายคลึงกันในบางประการ เช่น ระบบอุปถัมภ์ หรือการควบคุมของรัฐที่ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ก็นับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทุนจีนเทาเหล่านี้สามารถลงหลักปักฐานได้ในประเทศไทย ทั้งยังปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและพื้นที่ที่ทุนจีนเทาเข้าไปแทรกซึมอยู่ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างแยบยล
ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะความคล้ายคลึงของบริบทที่เกิดจากความใกล้เคียงเชิงโครงสร้างระหว่างรัฐไทยและจีนเท่านั้นที่เอื้อให้ทุนจีนเทาสามารถเติบโตได้ในประเทศไทย แต่มุมมองดังกล่าวยังได้อธิบายถึงทุนจีนเทาที่มีความสามารถในการ “เลียนแบบ” ให้เข้ากับระบบของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เช่น กลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ทุนจีนเทาใช้ในการกลืนกลายตัวเองให้เข้ากับสังคมที่เข้าไปดำรงอยู่ คือ กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์ (Legitimacy Construction) ที่นอกเหนือจากความสามารถในการแทรกซึมทางเศรษฐกิจแล้ว ทุนจีนเทายังมีกระบวนการที่เข้าไปฝังรากลึกในระบบวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของสังคมต่าง ๆ เช่น การก่อตั้งสมาคมวัฒนธรรมจีน การบริจาคเงินและกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างสายสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงของไทย ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ทุนจีนเทามีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุนจีนเทาสามารถขยายอิทธิพลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทุนจีนเทากับรัฐบาลจีน ที่เกิดขึ้นโดยที่ทุนจีนเทาได้วางภาพลักษณ์ของตนเองให้อยู่ในแนวทางที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลจีนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนาระดับโลกของจีนที่เน้นสร้างการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งแนวคิดเรื่องหลักการจีนเดียว (One China principle) ที่เป็นจุดยืนสำคัญทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐบาลจีนยุคปัจจุบัน ซึ่งการยอมรับและปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลจีนของทุนจีนเทาเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลจีนเลือกที่จะ “ปิดตาข้างหนึ่ง” ต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการแพร่ขยายของทุนจีนเทาที่เกิดขึ้นในรัฐปลายทางด้วยเช่นกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการศึกษาในเรื่องทุนจีนเทาผ่านมุมมองของสังคมวิทยาในที่นี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อทุนจีนเทาที่ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้การมองทุนจีนเทาเป็นสิ่งที่มีตัวตนที่แปลกแยกไปจากบริบทของสังคมไทย แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าทุนจีนเทานั้นมีความสามารถที่จะวางตัวให้สอดคล้องและสอดรับเข้ากับระบบของไทยได้อย่างแนบเนียน ผ่านมิติของการวิเคราะห์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ อำนาจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาทุนจีนเทาในอนาคต ที่เราจะต้องพิจารณาและทำความเข้าใจถึงโครงสร้างและเครือข่ายที่ทับซ้อนและมีอยู่ในสังคมไทยเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายและมาตรการที่สามารถรับมือกับทุนจีนเทาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากปัญหาของทุนจีนเทาได้บนพื้นฐานของความเข้าใจในความสลับซับซ้อนของปฏิบัติการทุนจีนเทาในสังคมไทย
ที่มาภาพ : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101948
-----------------------------
บทความคิดด้วยพลเมือง ตอน : จีนกระจุก เทากระจาย : มอง ‘ทุนจีนเทา’ ที่กลืนกลายอยู่ในสังคมไทยผ่านมุมมองสังคมวิทยา
โดย : เจษฎา จงสิริจตุพร HAND Social Enterprise
Author
Jetsada Chongsirichatuporn
นักมานุษยวิทยา (ฝึกหัด) ผู้มีความสนใจในประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับความทรงจำและการเมืองร่วมสมัย และอยากเขียนงานวิจัยให้สร้างสรรค์และเข้าถึงได้ทุกคน