เปลี่ยนทุก(ทุกข์)วันเป็นวันสุข(ศุกร์)

18.07.2022

สรุปประเด็น

เรามักจะได้ยินคำว่า Thank God it’s Friday ถ้าไม่ใช่จากเพื่อนในออฟฟิศก็คงจะเป็นตัวเราเองนี่แหละ เพราะว่าพอถึงวันทำงานทีไรใจมันก็ห่อเหี่ยว ได้แค่คิดในใจเมื่อไรจะวันศุกร์สักทีนะ.. ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจหรอกนะ แต่เพราะสังคมออฟฟิศทำให้ชีวิตเราต้องอมทุกข์ แล้วเราจะสามารถสุขโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันศุกร์ได้ไหมนะ ?

Thank God Every(work)day ให้ทุกวันเป็นวันสุข

.

เรามักจะได้ยินคำว่า Thank God it’s Friday ถ้าไม่ใช่จากเพื่อนในออฟฟิศก็คงจะเป็นตัวเราเองนี่แหละ เพราะว่าพอถึงวันทำงานทีไรใจมันก็ห่อเหี่ยว ได้แค่คิดในใจเมื่อไรจะวันศุกร์สักทีนะ.. ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจหรอกนะ แต่เพราะสังคมออฟฟิศทำให้ชีวิตเราต้องอมทุกข์

.

ไหนจะระบบการประชุมในบริษัทที่จัดประชุมซ้ำซ้อนเกินจำเป็นจนแทบไม่มีเวลา ทั้งสังคมทำงานที่เป็นพิษ เจ้านายก็เผด็จการเพื่อนร่วมงานก็ขี้นินทา แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่แสร้งยิ้มแล้วบอกโอเคค่ะ (^-^) แต่ในใจอยากให้ถึงวันศุกร์เร็ว ๆ ไว ๆ ใจแทบขาด

.

นี่เป็นเรื่องจริงไม่ติงนัง เพราะผลการศึกษาของ Ladder เว็บไซต์หางานในสหรัฐฯ สำรวจมาแล้วว่า

81 % ของพนักงานออฟฟิศมักแกล้งทำเป็นมีความสุขเวลาทำงานและมองว่ามันคือเรื่องปกติ

ส่วนหัวหน้างาน 52 % ที่รู้ว่าลูกน้องไม่มีความสุขกับการทำงานและอยากจะเปิดอกคุยถึงเหตุผลที่ทำให้การทำงานไม่มีความสุข

.

เราสามารถสุขโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันศุกร์ได้ไหมนะ ?

.

คำตอบคือ ได้ !! เพราะความสุขในการทำงานไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันหยุดเพียงอย่างเดียว แต่แค่มีเจ้านายที่ดีก็มีความสุขได้ จากงานวิจัยของเบนจามิน อาร์ทส์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ศึกษาและพบว่าหัวหน้างานที่ฉลาดและมีความรู้สามารถเพิ่มความสุขให้พนักงานได้มากถึง 12 % นอกจากนั้นการมีอิสระในการทำงาน การมี Work Life Balance หรือการได้เงินเดือนที่เหมาะสมก็สามารถทำให้พนักงานมีความสุขได้

.

แล้วความสุขในการทำงานนั้นสำคัญไฉน ?

.

Lisa Lewis Miller ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของความสุขพนักงานผ่านบทความใน Indeed เว็บไซต์หางานในสหรัฐไว้ว่า การที่พนักงานมีความสุขจะส่งผลให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เช่น ติดต่อลูกค้าได้อย่างมั่นใจ ผลิตสินค้าออกมาได้มีคุณภาพ และทำงานเป็นทีมได้ยอดเยี่ยม ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มของยอดขายที่จะสูงขึ้นและอัตราการเติบโตของบริษัท

.

ในทางกลับกันถ้าหากว่าพนักงานองค์กรไม่มีความสุขจะเกิดอะไรขึ้น

.

เมื่อพนักงานไม่มีความสุขจะเกิดอาการ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน พนักงานมีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจและร่างกาย เพราะเกิดจากความเครียดมากเกินที่สะสมอยู่มาเวลานาน รู้สึกจมดิ่งและไม่มีความต้องการที่จะทำอะไรเลย ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมันมีส่งผลต่อประสิทธิภาพงานของบริษัทอย่างแน่นอน และบริษัทอาจต้องเสียบุคลากรคุณภาพคนหนึ่งไป

.

จะเห็นได้ว่าความสุขของพนักงานในองค์กรสำคัญอย่างมาก เพราะฉะนั้นคนที่มีหน้าที่ในตำแหน่งบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรจะใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น หรือถ้าหากยังเห็นภาพไม่ชัดมาดูตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการความสุขของพนักงานอย่าง Adobe เพราะบริษัทนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จากทั้งหมด 70,000 บริษัทในสหรัฐอเมริกาโดย Comparably ซึ่งเคล็ดลับการบริหารองค์กรของ Adobe ให้พนักงานมีความสุขจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีดังนี้

.

หลักนิติธรรม : Adobe มีนโยบายการจ่ายค่าจ้างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ของพนักงานในองค์กรแสดงให้ถึงความยุติธรรมของการบริหาร และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังหันมาออกนโยบายต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ ระเบียบวิธีที่สนับสนุนช่วยเหลือพนักงาน

.

หลักคุณธรรม : การบริหารของ Adobe มีหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักคุณธรรมในการดูแลพนักงาน เพราะแนวคิดตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทในปี 1982 ผู้ก่อตั้ง John Warnock และ Chuck Geschke พวกเขาเชื่อในเรื่องความซือสัตย์ ความไว้ใจและความเท่าเทียม วัฒนธรรมองค์กรของ Adobe จึงไม่แบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรืออายุ พวกเขาเชื่อว่าทุกคนควรได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

.

หลักความโปร่งใส : เพราะสนับสนุนเรื่องของความเท่าเทียมจึงต้องมีการตรวจสอบ Adobe จึงได้มีการตรวจสอบการเลื่อนตำแหน่งงานว่าเป็นธรรมหรือไม่ พวกเขาจึงเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลความเท่าเทียมของการเลื่อนตำแหน่งสำหรับแต่ละคน แสดงให้เห็นถึงการไม่ปิดบังและเป็นองค์กรที่โปร่งใส

.

หลักการมีส่วนร่วม : ในช่วงโควิดที่ผ่านมาบริษัท Adobe ได้มีการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรเกี่ยวกับความเชื่อมั่น รวมทั้งยังมีการชวนให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

.

หลักความรับผิดชอบ : และช่วงเหตุการณ์โควิด Adobe ก็เป็นบริษัทที่ออกมาประกาศว่าการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงานนั้นจะได้รับความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

.

หลักความคุ้มค่า : Adobe มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพนักงาน เช่นการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของพนักงานและการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนกับทรัพยากรภายในองค์กรได้อย่างคุ้มค่า ทั้งเรื่องการศึกษาพนักงานและนวัตกรรม ที่สุดท้ายแล้วจะมาสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

.

เราจะเห็นว่าหลักการทั้งหมดล้วนเป็นการดูแลพนักงานด้วยใจ ซึ่งทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพนักงาน Adobe ถึงเป็นพนักงานที่มีความสุขมากที่สุด และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรืออีกชื่อคือหลักธรรมาภิบาลนี้ไม่เพียงสามารถทำให้พนักงานมีความสุขได้เท่านั้นแต่เป็นวิธีการที่สามารถทำให้บริษัทประสบความสำเร็จและยังเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

.

หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้เรามาลองดูกันไหม ว่าคุณหรือคนในองค์กรคุณมีความสุขดีหรือยัง ?

แค่ลองถามตัวเองเล่น ๆ ตาม Checklist นี้ดู

.

1. มีรายได้เพียงพอไหม ?


2. มีเจ้านายที่ดีไหม ?


3. แล้วเพื่อนร่วมงานล่ะดีไหม ?


4. งานของคุณมีอิสระพอไหม ?


5. มี Work Life Balance ไหม ?

.

ถ้าคุณขาดไปมากกว่าสองอย่าง นั่นอาจจะบอกว่าคุณกำลังไม่มีความสุขหรือที่ทำงานของคุณเป็นองค์กรขาดความสุข

.

อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้ทำมาเพื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ถ้าคุณอยากมีเครื่องมือสำรวจความสุขของพนักงาน ที่สร้างมาเพื่อองค์กรของคุณแล้วล่ะก็ พวกเราสามารถช่วยคุณได้ หากสนใจสามารถติดต่อใน Inbox มาทางเพจได้เลยยยย

.

กดหัวใจถ้าบริษัทของคุณสร้างความสุขในการทำงาน กดร้องไห้ถ้ายังอยากให้ถึงวันศุกร์ไว ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมแชร์ออกไปถ้าอยากให้บริษัท/องค์กร ฝ่าย HR ที่ทำงานเห็นและหันมาให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงาน


#มนุษย์เงินเดือน #Lovemonday101 #CorporateGovernance #thanksgoditsfriday #TGIF

---

อ้างอิง :

- Employee Happiness: Why It's Important and How to Achieve It

https://indeedhi.re/3PatWXA

- ทำไม Adobe ถึงเป็นบริษัทที่ พนักงานมีความสุขที่สุด ในสหรัฐอเมริกา

https://bit.ly/3ILvkxr

- Adobe earns top accolade for its people-centric approach to business

https://adobe.ly/3o5pVbb

- ความสุขของพนักงานคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญสำหรับบริษัทของคุณ

https://bit.ly/3ckYyr1

- 'ความสุข' ของพนักงาน คือรากฐานขององค์กร

https://bit.ly/3OewUJh

- Workplace Happiness วิธีสร้างความสุขในการทำงานให้ยั่งยืน

https://bit.ly/3uUwLnr

- ผลสำรวจชี้ 81% มนุษย์เงินเดือนชอบหลอกตัวเองว่ามีความสุขกับงานที่ทำ

https://bit.ly/3PtN9mO 

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Governance

Author

Surawat dewa

Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!