HR รับมือยังไง ถ้าต้องเจอ "เด็กเส้น"

08.08.2022

สรุปประเด็น

หากใครเป็นคอซีรีส์เกาหลีคงจะได้ดูซีรีส์อูยองอูทนายอัจฉริยะ (Extraordinary Attorney Woo) กันไปบ้างแล้ว ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นมุมมองคนพิการและให้เราได้สนุกไปกับการแก้ปัญหาด้านกฎหมายไปกับอูยองอู ตัวเอกของเรื่องที่เป็นโรคออทิสติกเสปกตรัม

แม้ว่าอูยองอูจะเรียนจบสาขานิติศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจาก ม.โซลแต่ความพิการทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะไม่รับเธอเข้าทำงาน จนสุดท้ายอูยองอูได้มาทำงานที่บริษัทฮันบาดา แม้เธอจะสามารถทำงานในฐานะทนายได้ดีแต่ความลับก็ถูกเปิดเผยว่าที่เธอเข้าทำงานบริษัทนี้ได้เพราะพ่อของเธอรู้จักกับประธานบริษัท ทำให้ควอนมินซู เพื่อนร่วมงานของเธอไม่พอใจเพราะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทำให้เขาไปป่าวประกาศบนโลกโซเชียลจนอูยองอูต้องตกเป็นจำเลยในสถานะเด็กเส้น อีกทั้งเรื่องนี้ยังส่งผลต่อความโปร่งใสของบริษัทฮันบาดาอย่างแน่นอน ถ้าคุณเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทฮันบาดาคุณจะทำอย่างไร ?

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทฮันบาดาคุณจะทำอย่างไร ?


หากใครเป็นคอซีรีส์เกาหลีคงจะได้ดูซีรีส์อูยองอูทนายอัจฉริยะ (Extraordinary Attorney Woo) กันไปบ้างแล้ว ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นมุมมองคนพิการและให้เราได้สนุกไปกับการแก้ปัญหาด้านกฎหมายไปกับอูยองอู ตัวเอกของเรื่องที่เป็นโรคออทิสติกเสปกตรัม

.

แม้ว่าอูยองอูจะเรียนจบสาขานิติศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจาก ม.โซลแต่ความพิการทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะไม่รับเธอเข้าทำงาน จนสุดท้ายอูยองอูได้มาทำงานที่บริษัทฮันบาดา แม้เธอจะสามารถทำงานในฐานะทนายได้ดีแต่ความลับก็ถูกเปิดเผยว่าที่เธอเข้าทำงานบริษัทนี้ได้เพราะพ่อของเธอรู้จักกับประธานบริษัท ทำให้ควอนมินซู เพื่อนร่วมงานของเธอไม่พอใจเพราะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทำให้เขาไปป่าวประกาศบนโลกโซเชียลจนอูยองอูต้องตกเป็นจำเลยในสถานะเด็กเส้น อีกทั้งเรื่องนี้ยังส่งผลต่อความโปร่งใสของบริษัทฮันบาดาอย่างแน่นอน ถ้าคุณเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทฮันบาดาคุณจะทำอย่างไร ?

.

เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร!!

เพราะระบบอุปถัมภ์และการทุจริตในบริษัทไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งถ้าหากคุณอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีดัชนีรับรู้การทุจริตอยู่ที่อันดับ 110 อย่างประเทศไทย (ข้อมูลจาก Transparency IT) ก็ทำให้คุณมีโอกาสพบเหตุการณ์ทุจริตมากเป็นพิเศษ บางครั้งคุณอาจเคยได้ยินเสียงซุบซิบของคนบริษัทคุยกันว่า “น้องคนนี้เข้ามาได้เพราะรู้จักกับหัวหน้าแน่ ๆ” “พี่คนนั้นน่าสงสัยจัง ทำโปรเจกต์แค่นี้แต่เบิกงบไปหลายหมื่น” ความไม่เชื่อใจในความโปร่งใสของบริษัทสุดท้ายอาจตามมาด้วยวัฒนธรรมที่มองว่าการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นการแข่งกันทุจริตของคนในองค์กรและเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในเวลาต่อมา

.

ตัวคุณเองก็อาจจะเริ่มไม่ไว้ใจใครในองค์กร หรือคุณอาจจะตกเป็นเป้าหมายของการกล่าวหาว่าทุจริต โดยเฉพาะหากคุณเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR หนึ่งตำแหน่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทุจริต เพราะในตำแหน่งนี้มีหน้าที่ในการดูแลเงินเดือนพนักงาน จัดการเบิก - จ่าย งบประมาณอื่น ๆ ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าปัญหาของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในองค์กรคืออะไรบ้าง ?

.

ข้อมูลจาก U4 Anti-Corruption Resource Centre ศูนย์รวมข้อมูลการต่อต้านคอร์รัปชันโดยสถาบันมิเชลเซน (Chr. Michelsen Institute) ศูนย์การวิจัยเพื่อพัฒนาในประเทศนอร์เวย์พูดถึงความเสี่ยงในการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในฝ่ายทรัพยากรบุคคลมี 2 ข้อหลักคือ 1. การมอบหมายตำแหน่งและการพิจารณาเลื่อนขั้น 2. การจ่ายเงินค่าตอบแทนและดูแลสวัสดิการของพนักงาน

.

1. การมอบหมายตำแหน่งและการพิจารณาเลื่อนขั้น (Public appointments and promotion) ตัวอย่างเช่น

.

กรณีการซื้อขายตำแหน่ง (Selling or buying positions) ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับตำแหน่งสำคัญหรือมีแนวโน้มจะให้ผลประโยชน์จำนวนมาก ขอยกตัวอย่างจาก ในประเทศเบนินและเซเนกัลที่พื้นที่อย่างท่าเรือหรือสนามบินจะได้รับความนิยมในการซื้อขายตำแหน่งมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่การทำธุรกรรมหนาแน่น

.

กรณีระบบอุปถัมภ์ (Patronage) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก ตัวอย่างอาจจะเป็นการช่วยเหลือเล็ก ๆ อย่างการบอกคำตอบล่วงหน้าให้กับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ไปจนถึงการรับเข้าทำงานเลยโดยไม่ต้องสัมภาษณ์ ตัวอย่างประเทศอย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ที่ใช้เพียงเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นเกณฑ์ชี้นิ้วคัดเลือกคนเข้าทำงาน

.

2.การจ่ายเงินค่าตอบแทนและดูแลสวัสดิการของพนักงาน (Compensation and benefits) ตัวอย่างเช่น

.

กรณีทุจริตเงินเบี้ยเลี้ยง (Per diems and allowances) โดยการเบิกเบี้ยเลี้ยงโดยมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าความเป็นจริง หรือเบิกไปใช้กับกิจกรรมที่ไม่จำเป็น

.

กรณีพนักงานผี (Ghost workers) คือการที่ทุจริตโดยสร้างบุคคลสมมติขึ้นมาเพื่อรับเงินเดือน เมื่อถึงเวลาก็นำเงินเดือนนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง เช่น ในประเทศกาน่าที่มีการตรวจสอบในปี 2014 พบว่ามีพนักงานผีมากถึง 24,000 คนในกระทรวงกลาโหม

.

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการทุจริตที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะยังมีการทุจริตรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นใกล้ตัวคุณ เช่น การสลับตำแหน่งเข้าทำงานระหว่างรัฐและเอกชน (Revolving door) การทุจริตโดยการขาดหรือลางาน (Absenteeism and other malpractices) ดังนั้นการบริหารจัดการเพื่อต่อสู้กับปัญหาทุจริตเหล่านี้อาจมีความซับซ้อนและยุ่งยากแต่เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องกำจัดเพื่อความมั่นคงของบริษัท เราจึงขอยกตัวอย่างแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการนำ 2 หลักการจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ที่จะเข้ามาช่วยคุณต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวโดยใช้หลักความโปร่งใสและหลักนิติธรรรมมีทั้งหมด 3 ข้อได้แก่

.

1. ทำให้การรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกพนักงานโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ โดย HR ควรให้ความสำคัญและคำนึงถึงความชัดเจน ชี้แจงได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ว่านั้น ประกอบด้วย

.

1 ) การอธิบายลักษณะความรับผิดชอบของตำแหน่งงานอย่างละเอียดเพื่อความโปร่งใสและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่าง ผู้สมัครและผู้รับสมัคร ป้องกันการเข้าใจผิดได้ในภายหลัง

2 ) การโปรโมทการสมัครงานอย่างทั่วถึงทุกคน ไม่ใช่การเลือกเสาะหาเฉพาะกลุ่ม

3 ) การรับสมัครที่มีมาตรฐานเดียวกันที่ใช้กับผู้สมัครทุกคน

4 ) การประเมินผู้สมัครและให้คะแนนที่มีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส

5 ) การคัดเลือกผู้สมัครจากคุณสมบัติจริง เป็นไปตามคุณสมบัตรและเกณฑ์การคัดเลือกที่องค์กรกำหนด

6 ) การคัดเลือกผู้สมัครที่ผ่านขั้นสุดท้ายอย่างไม่มีอคติ

7 ) การแต่งตั้งตำแหน่งงานให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตรงตามที่ยื่นสมัครหรือเหมาะสมตามคุณสมบัติ

8 ) การแจ้งผลกับผู้สมัครให้ครบทุกคนไม่ว่าจะผ่านหรือไม่

.

2. จัดให้มีระบบการประเมินการทำงานที่โปร่งใสชัดเจน เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานการประเมินผลการทำงานตามที่องค์กรกำหนดอย่างเท่าเทียมกัน ใช้เป็นมาตรฐานการประเมินเดียวกัน

เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในทางมิชอบของผู้จัดการ/หัวหน้างานที่มีอำนาจโดยตรงในการประเมิน อีกทั้งการประเมินที่ควรที่จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อหลักฐานการประเมิน การประเมินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดการทุจริตในการแต่งตั้งโยกย้าย และได้คนมาทำให้ตามคุณสมบัติที่เหมาะสม

.

3. ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เป็นวิธีการป้องกันการทุจริตโดยการใช้อำนาจแบบอ่อนที่จะช่วยลดการทุจริตได้ เพราะหลายครั้งการทุจริตในองค์กรเกิดจากการที่พนักงานได้เงินเดือนต่ำกว่ามาตรฐาน การไม่ได้สิทธิ์หรือสวัสดิการเต็มที่ตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันการเพิ่มมาตรการการติดตามตรวจสอบ การบันทึกรายการเบิกจ่าย และการระบุบทลงโทษทางกฎหมายพร้อมบังคับใช้กับผู้กระทำการทุจริตที่ชัดเจนเด็ดขาดก็จะ สร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีความเข้าใจในหลักคุณธรรมก็จะสามารถทำให้องค์กรสามารถลดโอกาสการทุจริตลงได้เช่นกัน

.

จากวิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมา มาจะเห็นว่าหัวใจหลักคือเรื่องของการสร้างความโปร่งใสและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่อย่าลืมว่าการออกกฎที่เข้มงวดเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อพนักงานที่มีความประพฤติดีเช่นกัน การป้องกันการทุจริตจึงอาจไม่ใช่แค่กฎหรือนโยบายแต่ทุก ๆ ต้องมีส่วนเข้ามาช่วยกันสอดส่อง ไม่ว่าคุณอยู่ในระดับผู้บริหารหรือพนักงานทั่วไป เมื่อพบเห็นการทุจริตในองค์กรก็ควรจะตั้งข้อสังสัย หรือถ้าถูกสงสัยก็ต้องแสดงความบริสุทธิใจ เต็มใจที่จะเปิดเผย สุดท้ายแล้วหากทุกคนช่วยกันก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มีเรื่องของการทุจริต

.

ลองมาคอมเมนต์แชร์กันหน่อยว่าถ้าบริษัทของคุณเริ่มมีกลิ่นของการทุจริตคุณจะทำอย่างไร ?? หากชอบเนื้อหาช่วยกดไลก์กดแชร์ให้เราด้วยนะ

---

อ้างอิง :

- “ระบบอุปถัมภ์” เพื่อสร้างโอกาส หรือฉวยโอกาส

https://www.naewna.com/anticorruption/columnist/52267

- Corruption and anti-corruption practices in human resource management in the public sector

https://www.u4.no/.../corruption-and-anti-corruption...

- Corporate Corruption and the HRM Function: Legal, Ethical, and Moral Perspectives

https://www.managementstudyguide.com/corporate-corruption...

- What You Can Do to Stop Workplace Fraud

https://www.shrm.org/.../pages/stop-workplace-fraud.aspx

- [Podcast] พัฒนาองค์กรอย่างไรให้ไม่เกิดการทุจริต?

https://www.youtube.com/watch?v=3pxdA9yIic4

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Governance

Author

Surawat dewa

Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!