เจ็บปวดไม่รู้วตัวเพราะคำว่า "ครอบครัว" ในบริษัท
22.08.2022
สรุปประเด็น
“บริษัทเราอยู่กันเหมือนครอบครัวเดียวกัน ทำตัวสบาย ๆ เลยนะ” เราว่าพนักงานใหม่หลายคนพอเข้าทำงานแล้วอาจจะได้ยินประโยคแบบนี้กันบ้าง ซึ่งพอฟังแล้วมันก็ดูดีนะ รักกันเหมือนพี่น้อง ดูอบอุ่นจริงใจ ไม่เป็นพิษ แต่จริง ๆ แล้ววัฒนธรรมแบบครอบครัว มันดีจริงหรือเปล่านะ ?
เสียหายไปเท่าไรกับประโยคที่ว่า “เรารักกันแบบครอบครัว”
“บริษัทเราอยู่กันเหมือนครอบครัวเดียวกัน ทำตัวสบาย ๆ เลยนะ” เราว่าพนักงานใหม่หลายคนพอเข้าทำงานแล้วอาจจะได้ยินประโยคแบบนี้กันบ้าง ซึ่งพอฟังแล้วมันก็ดูดีนะ รักกันเหมือนพี่น้อง ดูอบอุ่นจริงใจ ไม่เป็นพิษ แต่จริง ๆ แล้ววัฒนธรรมแบบครอบครัว มันดีจริงหรือเปล่านะ
.
ขออธิบายเพิ่มเติมว่าวัฒนธรรมองค์กรคือการรวมกันของหลาย ๆ องค์ประกอบ เช่น ความเป็นมาขององค์กร เป้าหมาย แนวคิด หลักปฏิบัติ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีแนวทางที่ต่างกันออกไป เช่นวัฒนธรรมองค์กรแบบปรับตัว ที่มีจุดเด่นคือความคิดริเริ่ม กล้าที่จะเสี่ยงเพื่อสิ่งใหม่ ๆ ให้อิสระ วัฒนธรรมแบบราชการ ที่จะเน้นเรื่องของระเบียบ ความเป็นทางการ และวัฒนธรรมองค์กรแบบของครอบครัวก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งรูปแบบของวัฒนธรรมก็จะคล้ายกับชื่อ คืออยู่กันเหมือนครอบครัวมีผู้นำองค์กร ฝ่ายบริหารเป็นเหมือนพ่อแม่ คอยนำทาง คอยให้คำปรึกษา พนักงานเปรียบเสมือนลูก ๆ ที่ต้องเชื่อฟัง จุดแข็งคือความแน่นแฟ้นของสมาชิกภายใน แม้ว่าการอยู่กันแบบครอบครัวนี้อาจจะดูดีแสดงถึงความรักให้กันแต่ในความจริงแล้วกลับมีอีกด้านที่เป็นผลเสียของวัฒนธรรมแบบนี้
.
Joshua A. Luna ผู้ก่อตั้ง MGMT On Demand สถาบันการอบรมผู้นำบอกว่า แม้วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวจะมีข้อดี เช่น ความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจ ความห่วงใย แต่ท้ายที่สุดความจงรักภักดีที่ลูกน้องมองเจ้านายเหมือนพ่อแม่ จึงอาจทำให้เกิดการเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว เพราะความลำบากใจที่จะปฏิเสธ อีกทั้งการเป็นครอบครัวผู้ปกครองมักเป็นผู้ตัดสินใจ ทำให้พนักงานอาจจะขาดความสร้างสรรค์ รวมทั้งการให้ Feedback เชิงลบอาจจะเป็นไปได้ยากเพราะการอยู่แบบครอบครัวจะทำให้ผู้คนมักจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง
.
นอกจากนี้หนังสือ The Character of The Corporation ที่มาจากงานวิจัยยังบอกว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวทำให้เกิดการส่งเสริมคอร์รัปชันภายใน เพราะการเป็นครอบครัวทำให้คนในองค์กรมักจะเข้าข้างกัน การสำรวจจริยธรรมแห่งธุรกิจปี 2019 พบว่าร้อยละ 45 เคยเจอการกระทำผิดกฎหมายในที่ทำงาน และ 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้เลือกที่เพิกเฉย โดยให้เหตุผลว่า เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว มักปกป้องคนผิดแต่ซื่อสัตย์กับองค์กรมากกว่า และมักจะให้โอกาสคนทำผิดบ่อยครั้ง จนเกิดเป็นสภาพสังคมการทำงานที่ไม่กลัวการทำความผิด ทำให้คนในองค์กรที่ดี ๆ เกิดความรู้สึกหน่ายกับความไม่ยุติธรรมและสังคมจนเกิดอาการหมดไฟหรือเบิร์นเอาท์ ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลกับตัวบริษัทในเวลาต่อมา เพราะฉะนั้นหากบริษัทของเรากำลังเผชิญกับปัญหานี้หรืออาจต้องเจอในอนาคต จะมีวิธีการรับมือแบบไหนที่จะสามารถช่วยแก้ไขได้บ้าง
.
จริงอยู่ว่าปัญหาที่วัฒนธรรมแบบครอบครัวได้อาจทำให้เกิดผลเสียอย่างที่ได้บอกไว้ แต่ก็ยังมีข้อดีเช่นกัน และการจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์ไปเลยคงไม่ใช่เรื่องง่าย การแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งบริษัทสามารถใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) มาประยุกต์กับนโยบายหรือแนวคิดของบริษัท โดยใช้ทั้งหมดสามหลักการ คือ หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วม หลักนิติธรรม
.
หลักความรับผิดชอบ : ในที่นี้คือคนที่เป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่จะต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองที่จะสนับสนุนพนักงานทุกคนให้แสดงฝีมือออกมาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด พยายามรับแยกแยะระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว เช่นสั่งงานในวันหยุดเพราะมองว่า พนักงานก็เหมือนลูกของเรา สามารถช่วยเหลือกันได้ หรือเรื่องของการใช้ความรู้สึกตัดสินใจในการประเมิน เพราะคนนี้มีความแน่นแฟ้นเป็นครอบครัวกับเรามากกว่าจึงให้คะแนนดีกว่า หากคนในองค์ยังไม่มีความรับผิดชอบในการแยกแยะอย่างที่กล่าวผลที่ตามมาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดลงอย่างแน่นอน ความรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องทำมายึดมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาหา
.
หลักการมีส่วนร่วม : การที่จะเห็นถึงปัญหาต้องถามจากผู้ที่เจอปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งในที่นี้เรากำลังพูดถึงพนักงานที่เจอกับปัญหาเหล่านี้ การนำหลักการมีส่วนร่วมมาใช้จะทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากพนักงาน ตัวอย่างคือการมีนโยบายเชิงรุกด้วยการสอบถามพนักงาน เช่น การทำ Stay Interview ประมาณปีละ 1 ครั้งเพื่อตรวจสอบว่าพนักงานยังมีความสุขดีอยู่หรือไม่ วัฒนธรรมของเราทำให้เขาเกิดผลกระทบอย่างไร บริษัทจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร วิธีการนี้นอกจากจะช่วยให้ได้เห็นถึงปัญหา พนักงานยังรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและสร้างความภักดีกับองค์กรได้อีกด้วย
.
หลักนิติธรรม ความชัดเจนเป็นหนึ่งสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการเอาเปรียบโดยอาศัยการใช้วัฒนธรรมแบบครอบครัวได้ ซึ่งหลักนิติธรรมหรือการใช้กฎหมายก็ช่วยสร้างความชัดเจนให้กับองค์กร เช่น การนำกฎหมายการทำงานล่วงเวลา กฎการให้วันลา มาใส่ในนโยบายของบริษัทให้ชัดเจนและมีการบังคับใช้จริง ๆ ตัวพนักงานเองก็จะสบายใจเพราะนโยบายต่าง ๆ ยึดตามหลักกฎหมายและตนจะไม่ถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้หลักนิติธรรมยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร การออกกฎที่เข้มงวดและมีการบังคับใช้จริง ซึ่งต่อให้จะรักกันแบบครอบครัวแค่ไหนก็ต้องกลัวการตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอย่างแน่นอน
.
สุดท้ายเราไม่ได้อยากจะบอกว่าวัฒนธรรมองค์แบบครอบครัวนั้นไม่ดี วัฒนธรรมองค์กรทุกรูปแบบล้วนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่ว่าเราสามารถแก้ไขจุดบอดหรือข้อเสียนั้นอย่างไร ซึ่งคุณก็สามารถใช้รูปแบบหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ทั้งสามหลักการที่เราได้แนะนำไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อถึงจุดที่ใครคนหนึ่งไม่สามารถอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมแบบนี้ได้อีกต่อไปก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นการหักหลังองค์กร และนำคำว่าครอบครัวมาอ้างให้อีกฝ่ายลำบากใจ สิ่งที่ควรทำคือขอบคุณเวลาที่ผ่านมาด้วยกันและเข้าใจเขา นำข้อเสียที่เกิดขึ้นมาปรับปรุงให้วัฒนธรรมองค์กรของเราดีขึ้นเพื่อพนักงานที่ยังอยู่ในปัจจุบัน
.
กดเลิฟให้กันหน่อยถ้าเห็นด้วยว่าวัฒนธรรมแบบครอบครัวมีการแก้ไขให้ดีขึ้นแบบตัวอย่างที่เราได้บอกไปแชร์ออกไปถ้าอยากให้องค์กรของคุณเป็นแบบนี้บ้าง
#Lovemonday101 #เราอยู่กันแบบครอบครัว #วัฒนธรรมองค์กร #CorporateGovernance
----
อ้างอิง :
- หนีไป! วิจัยเผย บริษัทที่อยู่กันแบบครอบครัว มักจะโดนเอาเปรียบมากกว่า
https://www.wongnai.com/.../work-like-family-is-toxic...
- เจอแบบนี้ต้องหนีไปให้ไกล! สารพัดข้อเสียของบริษัทที่ “อยู่กันแบบครอบครัว”
https://missiontothemoon.co/business-family-workplace.../
- บริษัทไม่ใช่ครอบครัว แต่ต้องดูแลและปรับตัวเหมือนทีมฟุตบอล
TAG ที่เกี่ยวข้อง:
GovernanceAuthor
Surawat dewa
Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!