5 แนวทางดูแลพนักงานเมื่อสถานการณ์มีแต่ข่าวร้าย ๆ

17.10.2022

สรุปประเด็น

เป็นระยะเวลาเกือบสามปีที่สังคมไทยต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แม้ช่วงหลังดูเหมือนว่าสถานการณ์เริ่มจะดีขึ้น แต่ยังไม่ทันไรเมื่อต้นปีก็เกิดภาวะสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงที่จังหวัดหนองบัวลำภูก็ได้สร้างความสะเทือนใจต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงเกิดคำถามว่า บริษัทจะดูแลสภาพจิตใจพนักงานอย่างไรในช่วงที่เหตุการณ์เลวร้ายต่างถาโถมเข้ามามากขนาดนี้

เป็นระยะเวลาเกือบสามปีที่สังคมไทยต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แม้ช่วงหลังดูเหมือนว่าสถานการณ์เริ่มจะดีขึ้น แต่ยังไม่ทันไรเมื่อต้นปีก็เกิดภาวะสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงที่จังหวัดหนองบัวลำภูก็ได้สร้างความสะเทือนใจต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงเกิดคำถามว่า บริษัทจะดูแลสภาพจิตใจพนักงานอย่างไรในช่วงที่เหตุการณ์เลวร้ายต่างถาโถมเข้ามามากขนาดนี้

.

สภาวะจิตใจย่ำแย่จากการรับข่าวสารด้านลบมากเกินไปสามารถเกิดได้กับทุกคน ผศ. นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้กล่าวว่าการรับข่าวสารด้านลบมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเครียดสะสมและเข้าสู่ภาวะ Headline Stress Disorder ทำให้มีอาการ ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า นอกจากภาวะ Headline Stress Disorder ก็ยังมีโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ที่เรามักจะได้ยินว่าเกิดขึ้นกับเหยื่อหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและจิตตก แต่ความจริง PTSD ไม่ได้เกิดแค่ในผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่เสพข่าวสะเทือนใจมากเกินไปได้เช่นกัน

.

แน่นอนว่าสุขภาพจิตใจที่ย่ำแย่ย่อมส่งผลประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน WHO หรือองค์กรอนามัยโลกได้เปิดข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิตของแรงงานทั่วโลก โดยประเมินเป็นค่าเงินประมาณหนึ่งล้านล้านดอลล่าสหรัฐฯ ต่อปี

.

Shonna Waters ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล ได้ให้ความเห็นว่าการปล่อยให้พนักงานมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จะส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถโฟกัสกับงาน การตัดสินใจแย่ลง รวมทั้งการสื่อสารภายในทีมก็มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกันกับผลสำรวจของ Metal Health America (MHA) หรือองค์กรเพื่อสุขภาพจิตในสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าหลายบริษัทเริ่มหันมาให้ความสนใจและลงทุนในเรื่องการสนับสนุนสวัสดิการการดูแลสุขภาพจิตพนักงานกันแล้ว แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจพนักงาน และความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของบริษัทที่ถือเป็นหนึ่งในหลักสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐในการนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ แนวทางการดำเนินนโยบายภายในองค์กรให้เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

.

แล้วถ้าอยากดำเนินการตามหลักความรับผิดชอบหรือเริ่มต้นดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงาน ต้องทำอย่างไร ? เรามี 5 แนวทางที่น่าสนใจจาก Understood.org องค์กรเพื่อสังคมไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ มาแนะนำ

.

1. เข้าใจเรื่องสุขภาพจิต

Jerome Schultz นักจิตวิทยาและเป็นอาจารย์ผู้สอนใน Harvard Medical School ได้บอกว่า สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตคือคนรอบข้างต้องมีความเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อหัวหน้าพบว่าพนักงานมีอาการซึมเศร้า ควรเข้าไปพูดคุยเพื่อหาสาเหตุว่าพนักงานกำลังมีปัญหาอยู่หรือไม่ ไม่ใช่การเดินเข้าไปต่อว่า พยายามแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจและพร้อมรับฟัง นอกจากนี้ หากจะทำให้ทุกคนเข้าใจได้บริษัทอาจต้องดำเนินนโยบายเชิงรุก เช่น สร้างความตระหนักให้ฝ่ายบริหารของบริษัทเห็นว่าการลงทุนในด้านสุขภาพจิตให้กับพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ หรืออาจจัดอบรมพนักงานระดับหัวหน้าให้เริ่มสนใจดูแลสุขภาพจิตพนักงาน เช่นสังเกตอาการ ถามไถ่ปัญหา

.

2. การดูแลสุขภาพจิตควรเป็นหนึ่งในแผนการดูแลสุขภาพของบริษัท

ตามกฎหมายแรงงานทุกบริษัทจะต้องมีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานอยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทควรมีนโยบายเพิ่มความช่วยเหลือด้านการรักษาทางจิตแพทย์ลงไปในสวัสดิการด้วย หรือให้พนักงานทำบัญชีออมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (HSA) ที่เป็นการออมเงินส่วนหนึ่งของเดือนเพื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในอนาคต

.

3. จัดทำโครงการ EAP

EAP หรือ Employee Assistance Program เป็นรูปแบบโปรแกรมที่เข้ามาช่วยเหลือพนักงานในการดูแลด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ โดยมีจุดเด่นคือความยืดหยุ่นที่พนักงานสามารถพบกับจิตแพทย์ตามสถานที่และเวลาที่ต้องการ เช่น สามารถพบจิตแพทย์ได้แบบตัวต่อตัวในบริษัทหรือนอกบริษัท ติดต่อผ่านทางมือถือ หรือการพูดคุยแบบออนไลน์ ทำให้เกิดความสบายใจหากพนักงานคนใดที่ไม่อยากถูกเห็นว่ามาพบจิตแพทย์หรือ ไม่สะดวกเรื่องของเวลาและสถานที่

.

4. ผลักดันให้เกิดนโยบายด้านสุขภาพจิต

บางครั้งแม้จะเป็นเพียงพนักงานหรือ HR ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้บุคคลระดับผู้บริหารเปิดรับความคิดเห็นเสมอไป เราสามารถผลักดันนโยบายการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานได้โดยการนำเสนอหรือพูดถึงบ่อย ๆ หรืออาจเสนอให้บริษัทจัด Workshop ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร

.

5. ส่งเสริมให้เกิด Well-Being

เราสามารถทำให้สุขภาพจิตของพนักงานดีขึ้นหรือมี Well-being ด้วยนโยบายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการเสนอแอปพลิเคชันที่ช่วยให้พนักงานสามารถนอนหลับได้ดีขึ้นก็จะลดความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงได้ หรือการเสนอให้พนักงานลองหันมานั่งสมาธิ ฝึกสติ อาจมีชั่วโมงโยคะในที่ทำงาน หรืออาจจะจัดวันหยุดพิเศษเพื่อให้พนักงานใช้เวลาพักผ่อนดูแลสุขภาพจิตกเพื่อจะได้กลับทำงานอย่างเต็มที่

.

หากคุณเห็นด้วยกับการดูแลสุขภาพจิตให้กับพนักงานเมื่อพวกเขาเกิดภาวะซึมเศร้าหรือเครียดนั่นแปลว่าคุณมาถูกทางแล้ว ทุกก้าวของบริษัทล้วนถูกจับตามองโดยพนักงาน การยึดมั่นในหลักความรับผิดชอบตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมทำให้พนักงานภายในและคนภายนอกรับรู้ว่าองค์กรนี้มีหลักการบริหารที่มีคุณธรรมจริยธรรม ผลสุดท้ายประโยชน์ก็จะตกอยู่ทั้งกับพนักงานและองค์กร

.

---

อ้างอิง :

- Workplace mental health: 5 ways to support employee wellness

https://www.understood.org/.../workplace-mental-health-5...

- Workplace Mental Health: Data, Statistics, And Solutions

https://www.mhanational.org/mind-workplace

- WHO and ILO call for new measures to tackle mental health issues at work

https://www.who.int/.../28-09-2022-who-and-ilo-call-for...

- จิตแพทย์ ม.มหิดล เตือนอย่าเสพข่าวหดหู่มากเกินไป เสี่ยงเป็นภาวะเครียดสะสม

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000096701

- The importance of mental health in the workplace

https://www.betterup.com/blog/mental-health-in-the-workplace

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Governance

Author

Surawat dewa

Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!