3 สิ่งที่ HR ต้องจัดการ พอกันทีทำงานเกินหน้าที่ !

31.10.2022

สรุปประเด็น

อ้าวเฮ้ย !! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา

เมื่อพนักงานต้องเป็นทุกข์เพราะขอบเขตงานไม่เหมือนที่คุยกันไว้ใน JD แล้วแบบนี้ควรแก้ไขอย่างไร ?

ช่วงเวลาที่น่าดีใจของใครหลายคนคงเป็นช่วงเวลาที่ได้รับสายโทรศัพท์พร้อมคำยินดีที่บอกว่า คุณผ่านการพิจารณาเข้าทำงานแล้ว แต่พอเข้าไปทำงานจริง ๆ มันกลับตาลปัตร เพราะขอบเขตงานใน Job Description (JD) ที่บอกไว้ว่าประมาณนี้ แต่ทำงานจริง ๆ กลับทำประมาณโน้น อย่างกับชื่อเพลงของวง Getsunova

อ้าวเฮ้ย !! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา

เมื่อพนักงานต้องเป็นทุกข์เพราะขอบเขตงานไม่เหมือนที่คุยกันไว้ใน JD แล้วแบบนี้ควรแก้ไขอย่างไร ?

.

ช่วงเวลาที่น่าดีใจของใครหลายคนคงเป็นช่วงเวลาที่ได้รับสายโทรศัพท์พร้อมคำยินดีที่บอกว่า คุณผ่านการพิจารณาเข้าทำงานแล้ว แต่พอเข้าไปทำงานจริง ๆ มันกลับตาลปัตร เพราะขอบเขตงานใน Job Description (JD) ที่บอกไว้ว่าประมาณนี้ แต่ทำงานจริง ๆ กลับทำประมาณโน้น อย่างกับชื่อเพลงของวง Getsunova

.

ปัญหาการทำงานจริงไม่ตรงกับที่ระบุไว้ใน JD เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ว่าพนักงานบริษัทประเทศไหน ๆ ก็ต้องเจอ ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่ให้ไม่ตรงตามตกลง หน้าที่รับผิดชอบมากกว่าที่ระบุไว้ และชั่วโมงการทำงานที่เกินกว่าความเป็นจริงแถมยังไม่มี OT ให้อีก ปัญหาสารพัดอย่างแบบนี้ทำให้พนักงานหลายคนต้องรู้สึกอิหยังวะ ภาระที่หนักอึ้งบวกกับความผิดหวังเหล่านี้อาจส่งผลให้พนักงานไม่สบายใจหรือเกิดความเครียดจนไม่มีความสุขในการทำงาน และเกิดอาการ Burnout ในที่สุด

.

ผลสำรวจจากกลุ่มพนักงานจำนวน 1,100 คนในปี 2018 จาก Harris Poll บอกไว้ว่าความชัดเจนเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่พนักงานหลายคนใช้ในการตัดสินใจสมัครงาน และการสำรวจจาก LinkedIn ในปี 2017 เกี่ยวกับความคาดหวังของพนักงานพบว่า

ผู้สมัครร้อยละ 70 ต้องการรู้ขอบเขตในการรับผิดชอบงานที่ชัดเจน

ผู้สมัครร้อยละ 39 ต้องการความชัดเจนของเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับ

ผู้สมัครร้อยละ 31 ต้องการรู้เส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน

.

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการมี JD ที่ชัดเจนและโปร่งใสจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากบริษัทไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ JD อาจมีผลเสียตามมา เช่น พลาดโอกาสการรับพนักงานเก่ง ๆ ได้พนักงานที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีศักยภาพมากพอ กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการที่บริษัทถูกพนักงานฟ้องร้องตามกฎหมาย

.

การป้องกันความเสียหายเหล่านี้จึงอาจต้องนำหลักธรรมาภิบาลหรือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ในเรื่องความโปร่งใสมาใช้ในการส่งเสริมนโยบายของบริษัท หากบริษัทยึดมั่นในหลักความโปร่งใส มี Job Description ที่ละเอียดชัดเจนตรงกับความต้องการของผู้สมัคร ก็จะเพิ่มโอกาสการเจอผู้สมัครที่มีความสามารถหรือผู้สมัครที่ตรงสเปกกับความต้องการของบริษัท ทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสร้างภาพลักษณ์และสร้างความน่าเชื่อถือของนักลงทุน และผู้บริโภคอีกด้วย

.

ขอแนะนำ 3 ข้อ สร้างความโปร่งใสตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อประโยชน์ของทั้งตัวพนักงานและบริษัท

.

1. เงินเดือนและขอบเขตของงานที่ชัดเจน : ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่น้อยบริษัทเลือกที่จะทำเพราะข้อได้เปรียบบางอย่าง ตัวอย่างในงานวิจัยของ Glassdoor เว็บไซต์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพนักงานบริษัทและจัดอันดับสายงานยอดนิยมพบว่าการประกาศรับสมัครงานออนไลน์น้อยกว่า 1 ใน 10 ไม่มีการระบุตัวเลขเงินเดือนที่ชัดเจน บริษัทส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “เงินเดือนต่อรองได้” เพื่อฉวยโอกาสหากพนักงานประเมินเงินเดือนตัวเองไว้ต่ำ บางบริษัทบอกกับพนักงานว่าจะได้รับเงิน 18,000 แต่พอมาทำงานจริงเงินเดือน 15,000 บวกเบี้ยขยัน 2,000 ค่าอุปกรณ์ 1,000 ซึ่งจะส่งผลต่อการต่อรองเงินเดือนเมื่อพนักงานย้ายไปบริษัทใหม่ หรือบางบริษัทบอกใน JD ว่าทำงานขอบเขตแค่เท่านี้ แต่พอทำจริงขอบเขตงานเริ่มขยายออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าการทำแบบนี้บริษัทอาจจะได้เปรียบอยู่บ้างแต่หากเทียบกับโอกาสที่เสียไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของงานที่ควรจะได้ และอาจเกิดปัญหา Burnout ภายหลังก็คงไม่คุ้มกันเท่าไร ดังนั้นการระบุช่วงเงินเดือนที่บริษัทสามารถให้ได้และขอบเขตการรับผิดชอบที่ชัดเจนไปเลยจึงเป็นสิ่งที่บริษัทควรทำเพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพ

.

2. สร้าง Employer Branding ด้วยการสร้างวัฒธรรมองค์กรที่ดีต่อพนักงาน : Employer Branding คล้ายกับการสร้างภาพลักษณ์สินค้าที่ดีให้กับผู้บริโภค แต่ Employer branding จะเน้นไปที่กลุ่มผู้สนใจสมัครงานกับบริษัท เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักกับค่านิยมองค์กร วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงรายละเอียดและประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นสิ่งที่พวกเขาจะได้รับเมื่อร่วมงานกับบริษัทนั้น ตัวอย่างบริษัทที่มี Employer Branding ที่ดี เช่น Heineken บริษัทเบียร์ชื่อดังที่สร้างแคมเปน “Go place” แคมเปนที่มอบข้อมูลองค์กรแก่ผู้ที่สนใจ ด้วยการทำวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวของพนักงานในองค์กรในปัจจุบันที่ได้ทำงานในแต่ละตำแหน่งต่างกันออกไป ทำให้เห็นถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัท

.

3. สร้างความโปร่งใสจากการให้ Feedback ของพนักงาน

ผลสำรวจจาก Software Advice พบว่าแรงงานในสหรัฐร้อยละ 50 มักจะอ่านรีวิวจาก Glassdoor ก่อนเริ่มสมัครงาน ในประเทศไทยเราเองก็มีเว็บไซต์ที่เปิดให้บริษัทลงทะเบียนเพื่อการรีวิวสำหรับพนักงาน เช่น www.workventure.com หรือ www.yousayhrsay.com เป็นต้น เว็บไซต์เหล่านี้จะช่วยให้คนที่สนใจสามารถดูรีวิวก่อนเข้ามาสมัครได้ และหากบริษัทไหนสามารถดูแลพนักงานได้ดีก็จะยิ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัท

.

ถ้าทำตามได้ทั้ง 3 ข้อก็มั่นใจได้เลยว่าบริษัทคุณจะกลายเป็นบริษัทที่โปร่งใสได้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สมัครงานในปัจจุบันกำลังตามหาดังข้อมูลที่เราให้ไว้ข้างต้น ความโปร่งใสไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์กับทั้งพนักงานที่ไม่ต้องมาลุ้นว่าจะต้องเจออะไรในงานจริง และกับบริษัทที่ได้รับความน่าเชื่อถือไม่ใช่เพียงจากแค่ผู้สมัครแต่รวมถึงผู้บริโภคและนักลงทุนด้วย !!

---

อ้างอิง :

- The Ruse Is Up: Why It’s Time for Transparent Job Descriptions

https://eightfold.ai/blog/transparent-job-descriptions/

- 3 Simple Ways To Create Transparent Job Descriptions

https://blog.ongig.com/.../3-ways-to-create-transparent.../

- 5 Examples of Companies Doing Employer Branding Right

https://www.occupop.com/.../5-examples-of-companies-doing... 

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Governance

Author

Surawat dewa

Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!