7 ข้อ สู่แนวทางการสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

21.11.2022

สรุปประเด็น

สวัสดีวันจันทร์ วันแรกของการทำงานที่แสนมีความสุข (หรือเปล่านะ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายท่านที่ติดตามข่าวสารคงพอจะรู้ว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และจบไปแล้ว แต่หนึ่งในวาระสำคัญและน่าสนใจของการประชุมครั้งนี้คือเรื่อง BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับ “ความยั่งยืน” ซึ่ง ถ้าใครก็ตามที่กำลังสนใจการปรับรูปแบบโครงสร้างองค์กรให้ทันโลก หรือสนใจด้านธุรกิจที่ควบคู่กับความยั่งยืนเชิญติดตามเรื่องนี้ได้เลยยย

สวัสดีวันจันทร์ วันแรกของการทำงานที่แสนมีความสุข (หรือเปล่านะ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายท่านที่ติดตามข่าวสารคงพอจะรู้ว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และจบไปแล้ว แต่หนึ่งในวาระสำคัญและน่าสนใจของการประชุมครั้งนี้คือเรื่อง BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับ “ความยั่งยืน” ซึ่ง ถ้าใครก็ตามที่กำลังสนใจการปรับรูปแบบโครงสร้างองค์กรให้ทันโลก หรือสนใจด้านธุรกิจที่ควบคู่กับความยั่งยืนเชิญติดตามเรื่องนี้ได้เลยยย

.

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนถูกพูดถึงมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่อง BCG ที่เป็นหัวใจหลักของการประชุม APEC ที่ผ่านมา BCG หมายถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนที่ประกอบไปด้วย Bioeconomy การเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้กับทรัพยากรชีวภาพให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่า Circular Economy ที่เน้นเศรษฐกิจแบบใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดความคุ้มค่า และ Green Economy คือเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอีกมากมายที่ได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ESG, SDGs, หรือ CSR ซึ่งถ้าจะให้มานั่งอธิบายทั้งหมดเวลาคงไม่พอ รูปแบบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืนที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นกำลังได้รับความนิยม สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ธุรกิจดังกล่าวกำลังมาแรงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก สอวช. ที่ระบุว่าธุรกิจรูปแบบ BCG มีมูลค่า 3.4 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2565 สาเหตุเพราะมุมมองต่อธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป

.

ถ้าจะพูดว่า “การทำธุรกิจคือการทำกำไรสูงสุด” ในอดีตคงจะใช่ แต่ปัจจุบันเทรนด์ธุรกิจได้หันมาสนใจการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากกว่า เพราะทุกคนได้เห็นแล้วว่าธุรกิจรูปแบบเดิมกำลังทำลายโลกและสังคม ยกตัวอย่างง่าย ๆ ทุกวันนี้อากาศในประเทศไทยร้อนขึ้นก็เพราะธุรกิจอุตสาหกรรม รายงานจากศูนย์ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ บอกว่าประเทศไทยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุเพราะการสร้างอาคารต่าง ๆ รวมถึงการเผาเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม การปล่อยมลพิษจากรถยนต์ หรือเรื่องของฝุ่น Pm 2.5 ที่ส่วนหนึ่งก็มาจากธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเผาวัสดุการเกษตร แต่ไม่มีการรับผิดชอบในส่วนของฝุ่นที่เกิดขึ้น แม้บางคนจะบอกว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นผลกระทบที่เกิดต่อสาธารณะ แต่อย่าลืมว่าบริษัทเอกชนเองเป็นเหมือนพลเมืองคนหนึ่งตามแนวคิดการเป็นพลเมืองธุรกิจ (Corporate Citizenship) จึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบแม้จะอยู่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้

.

เพราะความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันประชาชนต่างมองความรับผิดชอบของบริษัทก่อนจะเลือกบริโภคหรือบริการ ซึ่งตรงกับหลักความรับผิดชอบ (Responsibility) หนึ่งในหลักการบริหารของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญถ้าหากบริษัทต้องการปรับรูปแบบองค์กรให้เป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพราะถ้าหลักความรับผิดชอบอยู่ในแผนนโยบายของบริษัทจะทำให้แนวคิดและวิธีการทำงานของบุคลากรภายในเริ่มตระหนักถึงผลของการกระทำ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายในหรือสังคมและประชาชน โดยเรามีแนวทางการเริ่มต้นสำหรับ HR ในการนำไปใช้เพื่อสร้างรูปแบบองค์กรธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 7 ข้อดี ๆ มาแนะนำ

.

1. กำหนดเป้าหมายด้าน “ความยั่งยืน” : หากอ้างอิงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations : UN) แล้วเราจะพบว่าจะมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างเป้าหมายจะทำให้องค์กรมีความชัดเจนและเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นในการนำมาทำจริง เช่น บริษัท Unilever กำหนด 2 เป้าหมายคือ เป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านอาหาร ที่ต้องการให้อาหารสามารถเข้าถึงทุกคนได้โดยไม่มีใครต้องอดยาก และเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งในส่วนนี้ HR ต้องสำรวจเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทให้แน่ชัด เพื่อนำมาปรับใช้กับฝ่าย HR ในการสนับสนุนงานของบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เช่น จากตัวอย่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนข้างต้น HR อาจจะต้องดูว่าในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานได้ด้วย

2. ทบทวนกระบวนการทำงาน : เมื่อองค์กรมีเป้าหมายแล้ว HR ลองทบทวนดูว่า กระบวนการทำงานกำลังขัดแย้งกับเป้าหมายอยู่หรือไม่ เช่น เป้าหมายของเราคือความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแต่ในการทำงานจริงยังใช้กระดาษอย่างสิ้นเปลือง และที่สำคัญ อย่าลืมอัปเดตเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

3. ให้เป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหาบุคลากร : ในการสัมภาษณ์เพื่อสรรหารับคนเข้าทำงาน แนะนำให้ใช้เรื่องความยั่งยืนตามเป้าหมายบริษัทเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการสัมภาษณ์ด้วย เช่น คำถามเพื่อตรวจเช็กทัศนคติที่มีต่อปัญหาดังกล่าว ความเข้ากันได้กับวัฒนธรรม และอย่าลืมอธิบายข้อมูลเป้าหมายความยั่งยืนกับพนักงานใหม่

4. จัดอบรม : เป้าหมายด้านความยั่งยืนบางอย่างอาจต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน HR มีส่วนผลักดันให้เกิดกิจกรรมจัดอบรมจะช่วยให้บุคลากรภายในเข้าใจเป้าหมายของความยั่งยืนขององค์กร สิ่งที่เรากำลังทำ และช่วยให้โครงสร้างของเป้าหมายแข็งแรงมากขึ้น

5. ช่วยพนักงานทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น : ในฐานะ HR เราอาจจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้กับบุคลากร HRอาจเตรียมอุปกรณ์ให้พนักงานสามารถการทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น เป้าหมายของเราคือความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก็เตรียมกระดาษรีไซเคิลไว้ให้ หรืองดใช้อุปกรณ์สิ้นเปลืองทั้งหมดและหันมาใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน

6. สร้างแรงจูงใจ : HR สามารถใช้การวัดคะแนนเพื่อประเมินว่าว่าพนักงานมีส่วนร่วมกับเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้มากแค่ไหน และอาจมีการกำหนดรางวัลเล็ก ๆ น้อยไว้ให้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน

7. เปิดโอกาสให้เป็นอาสาสมัคร : HR สามารถลองเอากิจกรรมเพื่อสังคมมาประชาสัมพันธ์และอนุญาตให้พนักงานภายในองค์กรสมัครเข้าร่วม ตัวอย่างเช่น บริษัท UPS ที่มีการเปิดโอกาสให้พนักงานไปเข้าร่วมกิจกรรมอาสาเพื่อสังคมในสิ่งที่พนักงานอยากทำ เป็นต้น

.

ทั้งหมด 7 ข้อนี้เหมาะสำหรับการเริ่มต้นอย่างมาก ในการสร้างนโยบายความยั่งยืนให้กับองค์กร อย่าพึ่งคิดว่าเยอะจนท้อล่ะ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำตามทุกข้อ การเปลี่ยนแปลงองค์กรจะต้องค่อยเป็นค่อยไปให้คนภายในเริ่มปรับตัว แต่ไม่ว่าอย่างไร ในไม่ช้าองค์กรของเราก็จะกลายเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แสดงให้เห็นถึงการมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ซึ่งจะมีจะสร้างผลต่อทั้งภาพลักษณ์ทั้งกับคนในบริษัทและสังคมในแง่บวก พนักงานเองก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำเพื่อสังคม เพราะธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่ต้องคำนึงต่อสังคมด้วย

---

อ้างอิง :

- โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี

https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/

- ทำไมธุรกิจถึงต้องใส่ใจความยั่งยืน

https://www.gqthailand.com/.../the-importance-of...

- หน้าหนาวแล้วไม่หนาว ทำไมไทยหนาวน้อยลง

https://www.bbc.com/thai/thailand-46041318

- THE 17 GOALS

https://sdgs.un.org/goals

- 9 ways that HR and People teams can drive sustainability

https://www.sage.com/en-au/blog/hr-sustainability-tips/ 

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Governance

Author

Surawat dewa

Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!