รากฐานธรรมาภิบาลเริ่มจากความเสมอภาคทางเพศ

30.03.2022

สรุปประเด็น

“Gender equality is more than a goal in itself. It is a precondition for meeting the challenge of reducing poverty, promoting sustainable development, and building good governance.” (Kofi Annan, 2016)


คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดของคุณโคฟี แอนนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเป็นเจ้าของโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2001 ที่ได้พูดถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ว่านอกจากความเสมอภาคทางเพศจะเป็นเป้าหมายในตัวมันเองที่สังคมต้องร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส สิทธิ และบทบาทของคนทุกเพศแล้วนั้น ความเสมอภาคทางเพศยังเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการเสริมสร้าง ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างมาก และคิดว่าความเสมอภาคทางเพศเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สามารถเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่สมบูรณ์แบบจะต้องยืนอยู่บนหลักความเสมอภาคทางเพศ และความเสมอภาคทางเพศจะต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาลที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าองค์กรหลายภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมและลดความเหลื่อมล้ำเชิง

โอกาส สิทธิ และบทบาทหน้าที่ในสังคมของคนทุกเพศ โดยใช้หลักการ “การบูรณาการประเด็นเพศสภาวะเข้าสู่ประเด็นกระแสหลัก (Gender mainstreaming)” หรือการสอดแทรกมิติของเพศภาวะและการคำนึงถึงความต้องการจำเพาะของทุกเพศในการออกแบบนโยบาย โครงการสร้างการตัดสินใจ วัฒนธรรมองค์กร และดำเนินงานขององค์กรในทุกมิติ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มและการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในอีกทางหนึ่ง การบูรณาการเรื่องเพศสภาวะในการดำเนินงานโครงการก็คือการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งให้ความสำคัญกับมิติเรื่องความอ่อนไหวทางเพศด้วย ทำให้เรามีมุมมองในการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากเราจะตั้งคำถามว่าเราจะสร้างการมีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร เราจะต้องถามต่ออีกด้วยว่าเราจะช่วยส่งเสริมตรงไหนได้บ้างที่ให้คนทุกเพศสามารถเข้าร่วมโครงการได้อย่างเสมอภาค หรือโครงการที่เราจะทำช่วยส่งเสริมให้เกิดโอกาสสำหรับบุคคลทุกเพศอย่างเท่าเทียมหรือไม่ เป็นต้น ในทางกลับกัน การที่ผู้หญิงมีสิทธิ มีโอกาส และมีความก้าวหน้าในเชิงบทบาทและหน้าที่ ก็จะเป็นการเสริมพลังอำนาจของประชาชนที่จะมีศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบ และติดตามในโครงการ ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมธรรมาภิบาลจึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

เนื่องจากคอลัมน์นี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาล ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างองค์กรที่ริเริ่มผลักดันหลักการการบูรณาการประเด็นเพศภาวะในพันธกิจการขององค์กรด้านการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative) หรือ CoST ซึ่งนอกจากจะมีพันธกิจในการส่งเสริมความโปร่งใส (Transparency) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานแล้ว CoST ได้ผลักดันเรื่องคุณค่าความเสมอภาคทางเพศผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) ของผู้มีส่วนได้เสียเพศหญิงในกระบวนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การออกแบบ การตรวจสอบและติดตามโครงการ ไปจนถึงเสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการ นอกจากนี้ CoST ได้สอดแทรกเรื่องเพศภาวะในขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ ตั้งแต่โครงสร้างการบริหาร การจัดทำนโยบาย การรับสมัครเจ้าหน้าที่ กระบวนการตัดสินใจการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติของเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนได้เสีย และการมีกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศในองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องคำนึงถึงความจำเป็นเฉพาะและความต้องการของผู้หญิงในกระบวนการพัฒนาและวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างโอกาสที่เสมอภาค ลดอุปสรรคการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และส่งเสริมสัดส่วนของผู้หญิงให้เข้ามาสู่งานภาคการก่อสร้างมากขึ้น

CoST ประเทศสมาชิกและประเทศไทย ได้สอดแทรกความเสมอภาคทางเพศในการดำเนินงานของโครงการ และได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในหลายที่ทั่วโลก เช่น CoST ประเทศกัวเตมาลา ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ดำเนินการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งอบรมผู้นำเยาวชนในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในประเทศกัวเตมาลา เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตรวจสอบโครงการภาครัฐและคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ซึ่งในกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกผู้นำเยาวชน CoST ประเทศกัวเตมาลาได้ให้ความสำคัญกับความสมดุลของสัดส่วนเพศของผู้เข้าอบรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่เพศหญิงในกระบวนการตรวจสอบและติดตามโครงการที่สะท้อนความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง เป็นต้น จากตัวอย่างข้างต้นชี้เห็นแนวทางการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน

จากตัวอย่างการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศข้างต้น เป็นไปตามแนวปฏิบัติ Guidance Note: Mainstreaming gender equality ของ CoST International ซึ่งองค์กรอื่นสามารถประยุกต์ใช้แนวปฏิบัตินี้ กับองค์กรของตนเองได้โดยสามารถริเริ่มได้โดยทำตามแนวทางดังต่อไปนี้

หนึ่ง ด้านนโยบายและกระบวนการดำเนินงานขององค์กร โดยองค์กรจะต้องดำเนินการกำหนดเรื่องความเสมอภาคทางเพศในการสรรหาพนักงาน การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กร ในขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลจำแนกเพศในกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในโครงการและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลภายในโครงการเพื่อสร้างหลักประกันว่าการดำเนินงานคำนึงถึงการส่งเสริมบทบาทของทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน และสุดท้าย ควรมีการจัดทำคู่มือหรือแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงมีกลไกในการเอาผิดผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกส่วนไปในทิศทางเดียวกัน

สอง ด้านโครงสร้างและการตัดสินใจขององค์กร องค์กรควรกำหนดโครงสร้างที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างเพศชายและเพศหญิง และการนำข้อมูลจำแนกเพศและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติทางเพศภาวะมาพิจารณาในกระบวนการวางแผน ตัดสินใจ การดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลกิจการในโครงการ เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการตัดสินใจขององค์กรเป็นการตัดสินใจที่สะท้อนเสียงของบุคคลทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและมีส่วนร่วม

สาม ด้านวัฒนธรรมและทัศนคติ องค์กรควรส่งเสริมให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งขององค์กร เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และทัศนคติที่ดีในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และควรจัดให้มีกลไกร้องทุกข์ และจัดการปัญหาความขัดแย้งเรื่องเพศภาวะในหน่วยงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนคิดว่าการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่มีความลึกซึ้งมากขึ้นอาจจะจำเป็นคำนึงถึงการสอดแทรกมิติเรื่องความเสมอภาคทางเพศในการดำเนินการ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มแล้ว ความเสมอภาคทางเพศยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างพลเมืองที่มีศักยภาพในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของโครงการภาครัฐ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักธรรมาภิบาลจึงจำเป็นต้องมาพร้อมความเสมอภาคทางเพศอย่างแยกกันไม่ได้


SHARE:

Author

Charoen Sutuktis

เป็น BeyHive และนักวิจัยผู้หลงใหลในงานพัฒนาสังคมและการสร้างธรรมาภิบาล เพราะเชื่อว่าความเสมอภาค จะช่วยให้ทุกคนสามารถ run the world