Islamophobia: ความหวาดกลัว ความเกลียดชัง ที่นำไปสู่ความรุนแรง
27.11.2024
สรุปประเด็น
Islamophobia เป็นความหวาดกลัวอิสลามที่มีรากฐานจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างคริสต์กับมุสลิม และถูกตอกย้ำหลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านสื่อที่เชื่อมโยงมุสลิมกับการก่อการร้าย นักการเมืองอย่างทรัมป์ใช้นโยบายต่อต้านมุสลิมเพื่อหาเสียง นำไปสู่อาชญากรรมต่อมุสลิม เช่น การเผาศูนย์กลางอิสลาม และการฆาตกรรมเพียงเพราะเป็นมุสลิม ความเกลียดชังนี้กลายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ แม้ความรุนแรงไม่ควรถูกผูกโยงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เราควรยุติความเกลียดชังเพื่อป้องกันวงจรความรุนแรงที่ยากแก่การเยียวยา
ไม่นานมานี้บนแพลตฟอร์ม X มีการแสดงความคิดเห็นที่ตั้งคำถามต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม จากประเด็นดังกล่าวได้เกิดการรีโพสต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเริ่มเปลี่ยนจากการตั้งคำถามกลับกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นที่แสดงถึงความเกลียดชังหรืออคติต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม และหากไม่สามารถยับยั้งกระแสแห่งความเกลียดชังที่แผดเผาเป็นไฟลามทุ่งเช่นนี้ ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวอิสลาม หรือที่เรียกว่า “Islamophobia” ในสังคมไทยก็เป็นได้
คอลัมน์ “คิดด้วยพลเมือง (See-Think-Cen)” ในครั้งนี้ จะพาทุกท่านย้อนไปถึงที่มาที่ไปของภาวะความหวาดกลัวอิสลามที่เริ่มต้นมาจากโลกตะวันตก พร้อมทั้งสำรวจให้ลึกลงไป เพื่อให้เห็นว่าความหวาดกลัวที่ว่านั้นมันไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงความหวาดระแวง แต่มันยังนำไปสู่ความรุนแรงที่คาดไม่ถึงอีกด้วย!
จุดเริ่มต้นของความเกลียดชัง
จุดเริ่มต้นของ Islamophobia อาจมีที่มาเริ่มต้นจากการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่มักดำรงอยู่คู่ขนานกับประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม จนนำไปสู่การสร้างเรื่องเล่า มายาคติและวาทกรรมที่ว่า “Islam the Enemy” ในแง่นี้ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ก็คล้ายคลึงกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 และวาทกรรมพม่าเผาเมือง อันเป็นการสร้างสำนึกความรักชาติของคนไทยในขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังความเกลียดชังต่อพม่าด้วย
ความทรงจำในลักษณะของ Islamophobia ฝังลึกอยู่ในมโนสำนึกของผู้คนในโลกตะวันตกและถูกทำให้เป็นภาวะปกติของสังคม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 9/11ที่เป็นตัวกระตุ้นความทรงจำแบบ Islamophobia และแพร่กระจายแนวคิดนี้ไปสู่สังคมโลกด้วยน้ำมือของสื่อตะวันตก ทั่วโลกต่างพากันรุมประณามมุสลิมในฐานะ “ผู้ก่อการร้าย”จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สื่อมีบทบาทสำคัญมากทีเดียวต่อการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบแก่อิสลาม เนื่องจากสื่อต่างๆ ทั่วโลกต่างพากันพาดหัวข่าวเหตุวินาศกรรมโดยพร้อมเพรียง ชื่อของ “อุซามะฮ์ บินลาดิน” “อัลกออิดะฮ์” “ผู้ก่อการร้ายมุสลิม” ฯลฯ จึงถูกกล่าวย้ำและเขียนซ้ำอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการตอกย้ำแนวคิดหรือทัศนะที่ว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งสงครามและความรุนแรงให้ชัดเจนมากขึ้นแก่สายตาชาวโลกด้วย
ความหวาดกลัวและความเกลียดชังที่นำไปสู่ความรุนแรง
กระแสความเกลียดชังอิสลาม นำไปสู่การหาผลประโยชน์ทางการเมือง เมื่อเริ่มมีนักการเมืองหาเสียงโดยชูนโยบายต่อต้านอิสลามหรือมุสลิมและปลุกกระแส
Islamophobia ขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปลุกกระแส Islamophobia ในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้พูดถึงมาตรการห้ามไม่ให้มุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกา ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมของมุสลิมในมัสยิดทั่วประเทศ ซึ่งการชูนโยบายที่ว่านี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากพวกขวาจัดและกลุ่มคนนิยมคนผิวขาว นอกจากนี้ คำประกาศของทรัมป์ยังสะท้อนถึงการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ เหยียดศาสนา และสร้างความแตกแยกในสังคมอเมริกัน ต่อมา ภายหลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งก็เกิดความชอบธรรมในการต่อต้านมุสลิมในสหรัฐอเมริกาและนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด มุสลิมถูกคุกคามและกระทำอาชญากรรมในหลายพื้นที่ เช่น มีการเผาศูนย์กลางอิสลามในรัฐเท็กซัส การยิงผู้นำศาสนาอิสลาม การยิงอิหม่ามเชื้อสายบังกลาเทศในมหานครนิวยอร์ก การทำร้ายร่างกาย การด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายของชาวผิวขาวต่อครอบครัวมุสลิม เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะความหวาดกลัวอิสลามยังนำไปสู่ความรุนแรงถึงแก่ชีวิตของชาวมุสลิม จากกรณีของ Suzanne Barakat หญิงมุสลิมคนหนึ่งที่ได้พูดถึงประเด็น Islamophobia บนเวที TEDTalks เมื่อเธอต้องสูญเสียคนในครอบครัวของเธอเนื่องจากปัญหาความเกลียดชังมุสลิม โดยเธอได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เพื่อนบ้านบุกเข้ามาฆาตกรรมคนในครอบครัวของเธอเพียงเพราะว่าพวกเขาเป็นมุสลิม Suzanne Barakat ไม่สามารถปล่อยให้ความตายของคนในครอบครัวถูกลดค่าลง เธอจึงได้ออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามว่า หากเรื่องราวนี้เกิดกลับกันหากมีคนอาหรับ มุสลิม หรือคนที่เหมือนมุสลิมสักคนหนึ่งฆ่านักศึกษาผิวขาวในบ้านของพวกเขาจะเกิดอะไรขึ้น?ถ้าเป็นเหตุการณ์เช่นนี้ สื่อคงพากันพาดหัวข่าวว่าเป็น “การจู่โจมของผู้ก่อการร้าย” อย่างแน่นอน!
ในตอนจบของการบรรยาย Suzanne Barakat ได้กล่าวว่า ภาวะ Islamophobia กลายเป็นรูปแบบของความเกลียดชังที่สังคมยอมรับ ชาวมุสลิมล้วนต้องเผชิญกับการถูกเหยียดหรือถูกคุกคาม และความเกลียดชังนี้ไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และยุติความเกลียดชัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นอีกดังเช่นครอบครัวของเธอ
จะเห็นได้ว่า จากอคติได้ก่อตัวกลายเป็นความหวาดระแวงและความเกลียดชัง และในท้ายที่สุดก็แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงและนำไปสู่ความสูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายแล้ว Islamophobia หรือ ความหวาดกลัวอิสลาม จึงเป็นสภาวะความกลัวทางจิตอันเนื่องมาจากมายาคติที่ว่า ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาแห่งสงครามและความรุนแรง ความหวาดกลัวดังกล่าวได้ถูกพัฒนาต่อให้เกิดเป็นความเกลียดชังและกลายเป็นความรุนแรงในท้ายที่สุด ทว่าความเลวร้ายหรือความรุนแรงไม่ควรถูกผูกโยงเข้ากับกลุ่มคน เชื้อชาติ หรือศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะปัญหาการก่อการร้ายไม่ได้มีที่มาจากพระคัมภีร์หรือแก่นของศาสนาอิสลาม เพียงแต่กลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้นยกพระคัมภีร์มาเป็นข้ออ้างเพื่อกระทำผิด พูดง่ายๆ ก็คือ ศาสนาอิสลามไม่ได้ผลิตผู้ก่อการร้าย และไม่ใช่ศาสนาแห่งสงครามหรือความรุนแรง ดังนั้น เราทุกคนจึงควรยุติความหวาดกลัว ความเกลียดชัง และความรุนแรง ทั้งหลายเหล่านี้ลง ก่อนที่สังคมจะจมอยู่ในวังวนแห่งการตอบโต้และความหวาดระแวงจนยากแก่การสมานฉันท์เยียวยา
------------------------------------------------------------------------------------------
บทความคิดด้วยพลเมือง ตอน Islamophobia: ความหวาดกลัว ความเกลียดชัง ที่นำไปสู่ความรุนแรง
Author
Thanakan Guntong
ผู้ช่วยนักวิจัยมือใหม่ที่รักในการค้นคว้าแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียน และกำลังฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้ตัวหนังสือมีพลังมากพอที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า!