Red Flag สัญญาณอันตรายในการเมืองท้องถิ่น เมื่อผลงานบดบังความโปร่งใส
19.02.2025
สรุปประเด็น
การเมืองท้องถิ่นของไทยเผชิญปัญหาคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีคดีทุจริตมูลค่าความเสียหายกว่า 377 ล้านบาท แต่นักการเมืองที่มีข้อครหายังได้รับเลือกตั้งซ้ำ เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าธรรมาภิบาล ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึก และตัวเลือกผู้สมัครที่จำกัด ส่งผลให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองและการผันทรัพยากรสาธารณะไปสู่กลุ่มผลประโยชน์ การแก้ไขต้องอาศัยสื่อท้องถิ่น การสนับสนุนผู้สมัครที่มีคุณภาพ และการใช้เครื่องมือดิจิทัลเช่น "ผ่างบเมือง" ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณท้องถิ่นตลอด 4 ปี
หลังการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศที่ผ่านไปไม่นาน หลายๆ จังหวัดอาจจะได้นายก อบจ. และ ส.อบจ.ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ และจากบ้านใหญ่เจ้าเดิมๆ เข้ามาทำหน้าที่บริหารงบประมาณท้องถิ่นในการจัดหาบริการสาธารณประโยชน์ต่างๆ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นในช่วง4 ปีนับจากนี้ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด อบจ. จึงถือครองงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดหาบริการสาธารณะให้ประชาชน แต่เมื่อใดที่มีเม็ดเงินมีจำนวนมาก ความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันก็มักจะตามมา และบ่อยครั้งที่งบประมาณเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน กลับไหลเข้ากระเป๋าของคนเพียงไม่กี่คน
จากการสำรวจข้อมูล 10 คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง อบจ. ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (2547 – 2567) โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 377 ล้านบาท โดยอดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี กระทำทุจริตมากที่สุดถึง 42 คดี ขณะที่ อบจ.สงขลายังมีคดีทุจริตพัวพันกับอดีตนายก อบจ. ทั้งหมด 3 คน มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย อบจ.สมุทรปราการ ทุจริตเงินอุดหนุนวัด มูลค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการเมืองท้องถิ่นไทย คือ การที่ประชาชนมักให้ความสำคัญกับ “ผลงาน” มากกว่าประเด็นด้านธรรมาภิบาล นักการเมืองที่มีข้อครหาในอดีตหลายคนยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง อบจ. อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับประชาชน ผ่านระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึก และความเชื่อที่ว่า “คนโกงที่มีผลงานยังดีกว่าคนสุจริตที่ไร้การพัฒนา”
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้แทนเข้ามาทำงานบริหารบ้านเมืองนั้นมีหลายเรื่อง ได้แก่ ประการแรก ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าประเด็นด้านความโปร่งใส หากผู้บริหารสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ประชาชนมักพร้อมที่จะมองข้ามประเด็นด้านธรรมาภิบาล หรือการคอร์รัปชันไปได้
ประการที่สอง เครือข่ายความสัมพันธ์ในท้องถิ่น หรือระบบอุปถัมภ์ มีบทบาทสำคัญ นักการเมืองท้องถิ่นมักมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในสังคม การสร้างความสัมพันธ์ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมชุมชน การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้เกิดความผูกพัน และความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณในหมู่ประชาชน นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นยังช่วยรักษาฐานเสียงให้มั่นคงแม้จะมีข่าวในแง่ลบ แต่เครือข่ายเหล่านี้มักช่วยปกป้องภาพลักษณ์และรักษาคะแนนนิยมไว้ได้
ประการสุดท้าย ในหลายพื้นที่ ตัวเลือกผู้สมัครมีจำกัด ผู้ท้าชิงหน้าใหม่มักขาดศักยภาพหรือฐานเสียงที่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับนักการเมืองที่มีเครือข่ายและฐานเสียงสั่งสมมายาวนาน ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ต้องใช้เงินทุนสูงในการหาเสียงดังนั้น จึงยิ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครที่มีทุนจากธุรกิจหรือกลุ่มผลประโยชน์มากกว่า
ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เนื่องจากทรัพยากรที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอาจถูกผันไปสู่ผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง เมื่อนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสได้รับเลือกตั้งซ้ำๆ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าสู่การเมืองด้วยอุดมการณ์ที่ดี อาจถูกกีดกัน ส่งผลให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของกลุ่มทุนและอำนาจ
การแก้ไขปัญหาการเมืองท้องถิ่นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เริ่มจากการเพิ่มบทบาทสื่อท้องถิ่นในการให้ข้อมูลที่รอบด้านแก่ประชาชน พร้อมสนับสนุนให้มีผู้สมัครที่มีคุณภาพหลากหลายมากขึ้นที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของ อบจ. อย่างใกล้ชิด ผ่านเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยอย่างเว็บไซต์ “ผ่างบเมือง” (localbudgeting.actai.co) ที่ช่วยให้การติดตามงบประมาณท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้
การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เพียงสะท้อนการตัดสินใจของประชาชน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมือง และความท้าทายในการพัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ดังนั้น การสร้างความเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเมืองท้องถิ่นเป็นรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติต่อไป ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หน้าเก่า บ้านใหญ่ หรือคนใหม่ สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องร่วมกันเป็น “หูเป็นตา” ติดตามการบริหารงบประมาณท้องถิ่นตลอด 4 ปี พร้อมชู Red Flag เตือนเมื่อพบพฤติกรรมน่าสงสัย เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่คือหนทางสร้างการเมืองท้องถิ่นที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
------------------------------------------------------------------------------------------
บทความคิดด้วยพลเมือง ตอน Red Flag สัญญาณอันตรายในการเมืองท้องถิ่น เมื่อผลงานบดบังความโปร่งใส
Author
Nanwadee Dangarun
ผู้จัดการทั่วไป หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เจ้าหญิงเป็ดแห่งวงการต่อต้านคอร์รัปชัน" มีงานอดิเรกคือตามง้อแมว ตามใจแต่ไม่เคยถูกคลอเคลีย