‘เปิด’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’ ภาครัฐยิ่งเปิดข้อมูล ประชาชนยิ่งช่วยเปลี่ยนสังคม

27.09.2023

สรุปประเด็น

เหตุการณ์สะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นคดีลูกน้อง “กำนันนก” ยิงตำรวจทางหลวงเสียชีวิต นอกจากเรื่องราวมูลเหตุในการก่อคดีสะเทือนใจนี้ เรายังเห็นได้เห็นข้อมูลจำนวนมากตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข่าวการใช้เส้นสายโยกย้ายตำแหน่ง หรือ เรื่องการใช้อิทธิพลในพื้นที่ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในความสัมพันธ์ของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น


สื่อ และประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันขุดคุ้ยข้อมูลจนทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผู้อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น และทำให้เห็นว่า ข้อมูลนี่แหละ คือ กุญแจสำคัญในการนำมาสู่การไขข้อสงสัยในคดีนี้

กว่า 20 วันของการเสียชีวิตของสารวัตรแบงค์ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ตำรวจทางหลวงประวัติดี 1 นาย นอกจากเรื่องราวมูลเหตุในการก่อคดีสะเทือนใจนี้ เรายังได้เห็นข่าวและข้อมูลจำนวนมากตามหน้าสื่อต่างๆ ทั้งความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องการใช้เส้นสายในการโยกย้ายตำแหน่ง เรื่องการใช้อิทธิพลในพื้นที่ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น กระแสเหล่านี้ไม่ได้แค่ลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวงการตำรวจและข้าราชการเท่านั้น แต่ยังทำให้ต้องจับตาเรื่องความเสี่ยงในการรับงานก่อสร้างจากภาครัฐที่อาจจะมีการฮั้วประมูลของผู้ถูกกล่าวหาอย่าง “กำนันนก” ที่ถูกเปิดเผยว่ามีรายได้เป็นร้อยล้าน (หรืออาจจะพันล้านเพราะยังตรวจสอบได้ไม่ครบถ้วน)


แล้วการยิงตำรวจเสียชีวิต จะนำมาสู่เรื่องฮั้วประมูลได้อย่างไร ต้องขอยกความดีความชอบให้กับสื่อต่าง ๆ รวมถึงประชาชนที่ช่วยกันขุดคุ้ยข้อมูลทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงทั้งในเชิงความสัมพันธ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดว่ามารวมอยู่ในงานเลี้ยงได้อย่างไรมูลเหตุปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง (ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้) ขยายผลไปสู่ข้อมูลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐของผู้ถูกกล่าวหาอย่างกำนันนก จึงเกิดคำถามมากมายจากประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ของข้าราชการตามจังหวัดต่างๆการใช้เส้นสายในการโยกย้ายตำแหน่งในวงการตำรวจ การจัดเลี้ยงระหว่างผู้มีอิทธิพลกับตำรวจจะมีอะไรซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เงินเดือนกำนันเดือนละเท่าไร ทำไมกำนันนกถึงรวยเป็นร้อยเป็นพันล้าน การดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วรับงานภาครัฐแบบนี้เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า หรือเรื่องการได้งานจากภาครัฐจำนวนมากจนอาจจะส่อความผิดปกติในกระบวนการจัดจ้างซื้อจ้างหรือไม่


เมื่อเกิดการตั้งคำถาม การหาคำตอบจึงเป็นทางออกเดียวของชาวบ้านอย่างเรา จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวที่เราคงได้เห็นจากหน้าสื่อต่างๆ แล้วว่า กำนันนกมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจำนวน 2 บริษัท ซึ่งในระยะเวลาตั้งแต่ปี’58 ถึงปัจจุบัน รวม 8 ปี รับงานในพื้นที่นครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคกลาง รวมแล้วกว่า 1,000 โครงการ วงเงินกว่า 3,500 ล้านบาท นับเป็นผู้รันวงการรับเหมาก่อสร้างที่น่าจับตามอง แต่คงไม่ได้มองว่าเก่งอะไร แต่ต้องมองว่าแอบทำอะไรผิดปกติหรือไม่ เพราะในระบบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จัดทำโดยภาคประชาชนอย่าง www.ACTAi.coพบข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ “กำนันนก” จำนวน 43 โครงการที่ระบบขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง ที่แปลว่าส่อพิรุธในการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจผิดปกติ มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท เพราะอาจมีความเสี่ยงผิดปกติในการแข่งขันเสนอราคาที่เข้าข่ายการส่อฟันราคาอีกด้วย ซึ่งบางโครงการมีการเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลางถึง 20-40% จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังโครงการต่างๆ เพื่อหาความผิดปกติในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป


ลองคิดดูว่าหากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และข้อมูลการประกอบธุรกิจไม่ถูกเปิดเผยให้เข้าถึงอย่างสะดวก และไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เชื่อมโยงได้ง่ายโดยเครื่องมือ ACT Ai เราคงไม่ได้เห็นความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการขุดคุ้ยสืบเนื่องจากคดีฆาตกรรมมาสู่การเปิดโปงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างทุกวันนี้อย่างรวดเร็วโดยภาคสื่อมวลชน เราอาจจะยังคงคิดว่าการจัดเลี้ยงสังสรรค์ในบ้านผู้มีอิทธิพลที่มีตำรวจเข้าร่วมอยู่เป็นประจำนั้นเป็นเรื่องปกติ หรือการที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างหน้าเก่าเข้ารับงานบ่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังนั้นเกิดการสูญเสียงบประมาณ และสูญเสียโอกาสในการพัฒนาไปจำนวนมากมายมหาศาลเท่าไร


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เราน่าจะเห็นตรงกันแล้วว่า “ข้อมูล” คือกุญแจสำคัญในการนำมาสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และในโอกาสที่วันที่ 28 กันยายนของทุกปี คือวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ผู้เขียนจึงได้แต่หวังว่าประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้จะไม่เงียบหายไปตามกระแส แม้สถานะการพัฒนาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของไทยจะยังคงติดหล่มในบางเรื่อง ขัดกับหลักมาตรฐานข้อมูลเปิดสากลอยู่บ้างที่เน้น “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” นั้น


แต่เรายังเชื่อในความพยายามของภาครัฐไทยในการพัฒนาแก้ปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นสากล ให้สมกับที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเป็นรายแรกในอาเซียน นำไปสู่การทำงานของภาครัฐที่ “เปิดกว้าง เข้าถึงง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้”


------------------------


บทความคิดด้วยพลเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ‘เปิด’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’ ภาครัฐยิ่งเปิดข้อมูล ประชาชนยิ่งช่วยเปลี่ยนสังคม

Author

Nanwadee Dangarun

ผู้จัดการทั่วไป หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เจ้าหญิงเป็ดแห่งวงการต่อต้านคอร์รัปชัน" มีงานอดิเรกคือตามง้อแมว ตามใจแต่ไม่เคยถูกคลอเคลีย