เพราะข้อมูลนักการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนที่จะเปิดให้โปร่งใส
22.11.2023
สรุปประเด็น
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้เห็นข่าวของความอู้ฟู่ทางฐานะการเงินของนักการเมืองบางคน ไม่ว่าจะเป็น
ทำไมบางคนถึงมีเครื่องบินส่วนตัว ?
ทำไมบางคนมีพระเครื่องราคา 7 หลัก ?
ทำไมบางคนครอบครองที่ดินมูลค่ามหาศาล ?
ทำไมบางคนมีนาฬิกาหรูมาแลกกันใส่ได้ ?
ทุกคนเคยตั้งคำถามไหมว่า นอกจากรับรู้ข่าวสารของประชาชนแล้ว เรายังทำอะไรกับกรณีดังกล่าวได้บ้าง ถ้าสงสัยว่านักการเมืองบางคนดูมีฐานะดีเกินปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วคำถามเหล่านี้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ เพราะความโปร่งใสทางการเมืองนั้น (Political Transparency) จะเกิดขึ้นจากภาครัฐแค่เพียงส่วนเดียวไม่ได้ ประชาชนจึงเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากของสมการนี้ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง และคนอื่น ๆ ในการเข้าถึงการรับรู้ข้อมูล และร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มา อำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้
โดยตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ได้มีกฎหมายที่ระบุให้นักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงต้องเปิดข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย แต่ถึงแม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เราเข้าใกล้ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองแต่ละคนได้มากขึ้น การเปิดข้อมูลก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่ยื่นนั้นมาในรูปแบบไฟล์ PDF หรือเป็นเอกสารที่เขียนด้วยลายมือที่อ่านยาก และแม้ว่าหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีความพยายามนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบ แต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดอีกเรื่อง คือ อายุของการแสดงข้อมูลที่จำกัดให้ดูได้เพียงแค่ 180 วันเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่สามารถดูข้อมูลได้อีกซึ่งทำให้ประชาชนยังคงเข้าถึงข้อมูลได้ยาก และยังเป็นภาระของประชาชนอยู่
การเปิดข้อมูลภาครัฐอย่างโปร่งใสที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ จะทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์ และภาพรวมของการมีธรรมาภิบาลในชีวิตประจำวันได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของการส่งเสริมให้ประเทศเกิดการพัฒนาได้ และความใส่ใจของรัฐที่มีการบริหารจัดการที่รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งทิศทางของการสร้างความเข้าใจ และเพิ่มพลังของการอยากเข้ามา มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนได้มากขึ้นอีกด้วย
โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง และผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน จากการร่วมกันเป็นหูเป็นตา ทั้งในส่วนของการสืบค้น และตรวจสอบความโปร่งใส เพราะว่าภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เราอาจจะได้รู้จัก สส. หน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเราอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าคนที่เขาทำงานเป็นปากเป็นเสียงให้เราในสภา เขาคือใคร มีทรัพย์สินเท่าไร ที่แหล่งที่มารายได้อย่างไร และสุจริตหรือไม่ หรือแม้แต่ สส. หน้าเดิมที่เคยคุ้นหรือพอจะทราบข้อมูลอยู่แล้ว ทรัพย์สินที่เขามีเมื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว มีเยอะขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ข้อมูลตรงกันกับที่เขาได้เคยแจ้งไปแล้วหรือไม่
ซึ่งมีตัวอย่างของการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเปิดข้อมูลทางการเมืองที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ดังนี้
โดยในตอนนี้ประเทศไทยก็มีกิจกรรม “อาสาพา (PAR) กรอก” ที่ต้องการพลังของประชาชนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมของการสร้างฐานข้อมูลนักการเมือง ด้วยการ Digitize ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สินจากรูปที่เข้าถึงได้ยาก ทั้งในแบบไฟล์ PDF หรือเอกสารที่เป็นลายมือเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม ACT Ai Politics Data ที่นอกจากจะเป็นการทำให้ข้อมูลเข้าถึงง่ายขึ้นแล้วยังสามารถให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลบนแพลตฟอร์มอย่างไม่จำกัดเวลา ซึ่งทุกคนสามารถร่วมติดตาม การดำเนินงานของกิจกรรมนี้ เพราะในอนาคตทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของนักการเมืองบนแพลตฟอร์มดังกล่าวง่ายมากขึ้นด้วย
------------------------
Author
HAND SE Admin