นางงาม กับ รัฐเผด็จการ : ลาตินอเมริกาไม่ได้มีแค่นางงาม แต่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง
20.12.2023
สรุปประเด็น
“Hola Universo, Hola El Salvador, Soy Anntonia Porsild con mucho orgullo, representando Tailándia.” หลายคนที่เป็นแฟนนางงามสามารถท่องประโยคดังกล่าวได้อย่างคล่องปากเพื่อเป็นการส่งเสียงเชียร์แก่ แอนโทเนีย โพซิ้ว ตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดนางงามจักรวาล Miss Universe 2023 แม้ปีนี้ประเทศไทยจะไม่ได้มง 3 ตามที่คาดหวังไว้ ทางผู้เขียนนั้นยินดีเป็นอย่างยิ่งกับ Miss Nicaragua หรือ Sheynnis Palacios สำหรับตำแหน่ง Miss Universe 2023
สำหรับผู้เขียน สิ่งที่น่าสนใจในการประกวดครั้งนี้ คือ ท่าทีของรัฐบาลนิการากัวที่มีต่อ Miss Nicaragua 2023 ทั้งก่อนและหลังการประกวดซึ่งแสดงให้เห็นว่า Sheynnis มีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสมวลชนหรือ Active Citizen ในนิการากัวเป็นอย่างมาก จากเวทีประกวดเพื่อความบันเทิงและสรรเสริญความสวยงามของเหล่าผู้ประกวดได้กลายเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศนิการากัว
ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำทุกท่านไปรู้จักพลวัตทางการเมืองของลาตินอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการไปสู่การมีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศนิการากัวซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมมานานกว่าหลายทศวรรษ
เผด็จการทหารในลาตินอเมริกาช่วงสงครามเย็น
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การพัฒนาทางการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา หรือ กำลังพัฒนามีการพัฒนาทางการเมืองผ่านการใช้ “อำนาจปืน” เป็นเครื่องมือหลักในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ (สุรชาติ บำรุงสุข, 2561, 24) ทำให้ผู้นำในประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำในลักษณะนักการเมืองในเครื่องแบบ (Politician in uniform) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็น ผู้นำในหลายประเทศใช้โอกาสในช่วงของความขัดแย้งทางความคิดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลของตนและทำการปราบปรามคอมมิวนิสต์ อีกทั้ง ผู้นำเหล่านี้มีความเชื่อในพลังอำนาจของอาวุธหรือ “กระสุนปืน (Bullet)” มากกว่าเชื่อใน “บัตรเลือกตั้ง (Ballot)” (แม้ว่าหลายคนจะเคยได้ยินประโยควรรคทองจากประธานาธิบดี Lincoln ที่ว่า “บัตรเลือกตั้งแข็งแรงกว่ากระสุนปืน” แต่สำหรับผู้นำเผด็จการเหล่านี้เขาเชื่อในกระสุนปืนมากกว่า)
การควบคุมรัฐด้วยอาวุธทำให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤตทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นไปได้ ดังนั้น ในทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 เป็นช่วงเวลาที่รัฐเผด็จการหรือประเทศผู้นำทหารมีความเข้มแข็งและวางรากฐานอย่างฝังรากลึกในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา อีกทั้ง ปัจจัยภายนอกอย่าง สหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นได้ช่วยเสริมสร้างเกราะอันแข็งแกร่งแก่เผด็จการทหาร โดยสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1820 ผ่านการประกาศนโยบายภายใต้คำแถลงการณ์มอนโร หรือ ลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine 1823) เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากมหาอำนาจยุโรปมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาที่เปรียบเสมือนหลังบ้านของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศเผด็จการในลาตินอเมริกาได้เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง (Redemocratization) เนื่องจาก การล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสถาบันทหารทั่วโลกในขณะนั้น
กองทัพหรือรัฐบาลทหารในหลาย ๆ ประเทศได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เมื่อสงครามเย็นยุติลง สหรัฐฯ ได้ยกเลิกการสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารและกองทัพในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ความชอบธรรมในการสร้างความมั่นคงเพื่อปราบปรามและป้องกันคอมมิวนิสต์จึงหมดไปเช่นเดียวกัน อีกทั้ง รัฐบาลอำนาจนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไม่มีความสามารถมากพอที่จะบริหารเศรษฐกิจประเทศจึงนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในหลายประเทศกำลังพัฒนา ทำให้พันธมิตรพลเรือนของกองทัพอย่างกลุ่มธุรกิจและชนชั้นกลางหันมาสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ต้องการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยม
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถการันตีได้ว่าระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาจะมั่นคงและถาวรได้ แม้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลายประเทศในลาตินอเมริกามีการเลือกตั้งและรัฐบาลเผด็จการได้หายไปในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศเหล่านี้ได้เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้อำนาจเผด็จการกลับหวนสู่อำนาจในประเทศเหล่านี้อีกครั้ง
การหวนกลับมาของเผด็จการในนิการากัว
ในช่วงสงครามเย็น นิการากัวเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติคิวบา ทำให้เกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐเผด็จการของประธานาธิบดี Anastasio Somoza ที่ปกครองนิการากัวมายาวนานถึง 43 ปี (ค.ศ. 1936 - ค.ศ. 1979) ของชนชั้นแรงงาน ชาวนา นักเรียน และชนชั้นกลางในนิการากัว และท้ายที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่สงครามกลางเมืองในนิการากัวและการปฏิวัติที่นำโดยกลุ่มLeft-Wing อย่าง Sandinista (Sandinista National Liberation Front (FSLN))
ในช่วงเวลานั้นเอง เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายระหว่างขั้วอำนาจเก่าไปสู่ขั้วอำนาจใหม่ ผ่านการปกครองประเทศโดยกลุ่ม FSLN หรือ พรรค FSLN (ต่อมา FSLN ได้กลายเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาของนิการากัว) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและคิวบา แม้ในการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Daniel Ortega จากพรรค FSLN จะมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งดังกล่าว เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่น ๆ ที่ลงสมัคร ทำให้การปกครองของนิการากัวในเวลานี้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนกลุ่มอำนาจเผด็จการเท่านั้น
หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น แรงสนับสนุนจากภายนอกต่อพรรค FSLN ได้หายไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นำมาสู่การเลือกตั้งในปี 1990 นิการากัวได้ประธานาธิบดีคนใหม่ในรอบ 11 ปี ในช่วงเวลานั้นเอง นิการากัวได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้า CAFTA-DR ทำให้เศรษฐกิจของนิการากัวดีขึ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ประตูที่เปิดออกไปสู่ประชาธิปไตยถูกปิดลงอีกครั้ง เนื่องจากเกิดการคอร์รัปชันในการเมืองท้องถิ่น และความแตกแยกทางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวเปิดโอกาสให้ Daniel Ortega กลับเข้าสู่สนามการเมืองและชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน ค.ศ. 2006 และกลายมาเป็นประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเวลาตั้งแต่ 2006 จนถึงปัจจุบัน ทางรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งตามวาระ แต่ประธานาธิบดี Ortega ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและมีการจำคุกของหัวหน้าฝ่ายค้านหลายคนในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง อีกทั้ง ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้อำนาจทางทหาร ตำรวจ เข้าควบคุมพฤติกรรมและความคิดของประชาชนโดยตลอดมา จนทำให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งในนิการากัว
จุดตกต่ำขั้นสุดของประชาธิปไตยในนิการากัวเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2017 เมื่อประธานาธิบดี Ortega แต่งตั้งภรรยาของเขาเป็นรองประธานาธิบดี และเข้าควบคุมระบบการคลังทั้งหมดของประเทศ ทำให้ประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมากจนนำมาสู่การประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในปีต่อมา การประท้วงในปี 2018 นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือควบคุมฝูงชนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 350 ราย และมีผู้ต้องขังทางการเมืองมากมาย ซึ่งในการประท้วงครั้งนี้ Sheynnis Palacios ได้เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวเช่นกัน
เมื่อ Miss Universe กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง
หลังจากการประกวดนางงามจักรวาลจบลง กระแสนางงามได้กลายเป็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยสำนักข่าวต่างประเทศ The Guardian รายงานว่า Karen Celebertti เจ้าของแฟรนไซส์ Miss Nicaragua และลูกสาว ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศนิการากัวได้ เนื่องจากถูกจัดอยู่ในบุคคลที่ห้ามเข้าประเทศ ส่วน Sheynnis ตอนนี้ยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศ เนื่องจาก Sheynnis ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งนางงามจักรวาลอยู่ที่สหรัฐฯ และยังไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลนิการากัวเรื่องของการห้ามไม่ให้ Sheynnis เข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจาก Sheynnis ได้รับตำแหน่ง Miss Universe 2023 ประชาชนในประเทศนิการากัวพากันออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก โดยการเฉลิมฉลองดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การสรรเสริญความงดงามของนางงามที่ได้รับมงกุฎ แต่เป็นการเฉลิมฉลองให้กับความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะจุดประกายให้ประเทศนิการากัวกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง
ผู้คนที่ออกมาเดินขบวนเฉลิมฉลองชัยชนะในตำแหน่งนางงามจักรวาลนั้น ได้เปรียบเทียบว่า Sheynnis เป็นตัวแทนของความหวังและแสงสว่างในประเทศ เนื่องจากในช่วงของการแข่งขัน ได้มีการปล่อยภาพ Sheynnis ในขณะเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2018 อีกทั้ง ประชาชนนิการากัวบางส่วนเชื่อว่า เสื้อคลุมสีน้ำเงินและชุดราตรีสีขาวที่ Sheynnis สวมใส่ระหว่างแข่งขันเป็นการอ้างอิงถึงสีของธงชาติที่เป็นสีที่ถูกห้ามหลังจากการประท้วงในปี 2018 แม้ว่าในช่วงเวลาของการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน Sheynnis ไม่ออกมาพูดถึงประเด็นการเมืองใด ๆ
Sheynnis ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ความหวัง (Hope) และการไม่ยอมจำนน (Defiance) ของชาวนิการากัว ชัยชนะของ Sheynnis ได้จุดประกายความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ
การเป็น Active Citizen ของ Sheynnis ทำให้รัฐบาลเผด็จการเกิดความกระสับกระส่าย เนื่องจากรัฐบาลกลัวว่าชัยชนะของ Sheynnis ในครั้งนี้จะปลุกกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาลให้กลับมาอีกครั้ง แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีการประกาศใด ๆ จากรัฐบาลต่อกรณีห้ามเข้าประเทศดังกล่าว แต่ระหว่างการแข่งขันสื่อของรัฐบาลได้ใช้ถ้อยคำเสียดสี Sheynnis หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังของสื่อฝ่ายรัฐบาลที่มีต่อ Sheynnis
ดังนั้น เสียงของพลเมืองที่ตื่นรู้เป็นสิ่งที่เผด็จการในหลายประเทศหวาดกลัวมาตลอด แม้ว่าผู้ส่งเสียงจะมีเพียงแค่หนึ่งคน ก็สามารถจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เช่นเดียวกับภาพของ Sheynnis การเคลื่อนไหวหรือการลุกฮือของภาคประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมดังเช่นในอดีต เมื่อประชาชนยังคงมีหวังและส่งเสียงแห่งความหวังนั้นออกมา ประชาธิปไตยสามารถหวนหลับมาสู่ภูมิภาคนี้ได้อีกครั้ง
ท้ายที่สุด การเป็นพลเมืองตื่นรู้เป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนของสังคม เพียงแค่ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของเสียงของตนเอง ความหวังของการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อประชาชนได้ใช้เสียงของตนเองอย่างถูกต้อง
------------------------
Author
Saranchanok Limvisittanakon
นักประสานงานมือระวิงและเป็นผู้ช่วยจำเป็นของหัวหน้าพ่อลูกอ่อน ตั้งคำถามกับการเมืองและโครงสร้างสังคม รักในศิลปวัฒนธรรม แต่ยามว่างเดินชอปของเล่นลูก (สุนัขที่รัก)