หลักธรรมาภิบาล สู่ การจัดการป่าชุมชน
27.04.2022
สรุปประเด็น
ในสมัยก่อน การที่ชุมชนกับป่าอยู่ร่วมกันถือเป็นเรื่องปกติ แต่พอเวลาเปลี่ยนไป สังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมือง วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป การทำเกษตรไม่ใช่แค่เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่เปลี่ยนเป็นการทำเพื่อการค้าขาย
รัฐเองไม่ได้มองว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งกับป่าอีกแล้ว แต่มองว่าป่าเป็นแค่เครื่องมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น ตัวอย่างการที่รัฐให้สัมปทานกับเอกชนเข้ามาทำเหมืองแร่ การที่รัฐพยายามผลักดันแคมเปญการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม แต่ชุมชนในหลายพื้นที่กลับถูกไล่ออกจากป่า ไม่สามารถใช้ป่าเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้อีกต่อไป
ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยหลักการที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” เป็นหลักการที่จะทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้
เชื่อหรือไม่ว่า “การมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล” ช่วยแก้ไขปัญหาป่าไม้ได้
หากพูดถึงเรื่องป่าไม้ เรากำลังพูดถึงชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยการเข้าไปหาอาหารในป่า แต่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย แถมมีคดีบุกรุกพื้นที่ป่าติดตัว บางคดีต่อสู้ยาวนานมากกว่า 10 ปี และบางคดีก็ยังไม่จบสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะลงเอยด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และสมการนี้เอง รัฐมักเป็นผู้ได้เปรียบอยู่เสมอ !
เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารได้เพิ่มศักยภาพรองรับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการปลูกเพื่อขายมากกว่าเพื่อดำรงชีพ ทำให้พื้นที่ป่าถูกรุกล้ำเพราะต้องใช้พื้นที่ในการเพิ่มปริมาณผลผลิต และสมการนี้เอง ชุมชนท้องถิ่นมักเป็นจำเลยอยู่เสมอ !
รัฐพยายามทำให้เห็นว่า “ป่า” เป็นเรื่องของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากสัมปทานป่าไม้ ทำเหมืองแร่ส่งเสริมพืชพาณิชย์ รวมไปถึงการท่องเที่ยวและแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมมูลค่าการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ป่าตามความหมายของรัฐจะไม่มี “ชุมชน” หรือ “คน” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ความหมายของ “ป่า” จึงเป็นพื้นที่ต้องห้ามที่มีเพียงรัฐเท่านั้นที่เข้าไปได้
มาถึงตรงนี้ หลายคนสงสัยว่า “หลักธรรมาภิบาล”สามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนระหว่างคนกับป่าได้จริงหรือไม่คำตอบคือ ได้ เพียงแต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าหลักธรรมาภิบาลหรือ Good Governance คือ การมีส่วนร่วมของสาธารณชนที่เข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบบนพื้นฐานข้อมูล โดยต้องมีความชอบธรรมและยุติธรรมเพื่อสร้างกลไกธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นได้จริง
เราไปดูกรณีศึกษาจากป่าชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ป่าชุมชนแม่แบบที่นำกลไก ธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการ โดยเดิมทีแม่ทา เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มีปัญหาระหว่างรัฐ ผู้ถือครองโฉนดที่ดินและมีอำนาจผูกขาด กับชุมชนแม่ทา คนพื้นเมืองที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานมากกว่า 300 ปี ซึ่งใช้ชีวิตและหากินบนพื้นที่มายาวนานกว่ากฎหมายป่าไม้เสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ทรัพยากรที่ค่อยๆ หมดไป เพราะนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐที่พยายามส่งเสริมการค้า มองว่าทรัพยากรและที่ดินคือความมั่งคั่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ ทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีเกษตรเป็นเชิงการค้ามากขึ้นมีการขยายพื้นที่ทำกินและแย่งชิงทรัพยากร ขณะเดียวกันที่ดินก็ถูกขายให้กับนายทุน ซ้ำร้ายพื้นที่แม่ทากำลังจะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ปี พ.ศ.2525 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลายครัวเรือน
ธรรมาภิบาลจึงเข้าไปคืนอำนาจการจัดการให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเกิดจากความร่วมมือของคนในพื้นที่เอง เริ่มจากการจัดตั้งผู้นำและแกนนำบริหารจัดการ นำเอาภูมิความรู้และงานวิชาการเข้ามาเป็นแรงจูงใจที่ช่วยขับเคลื่อนในด้านถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติ มีแผนการจัดการป่าชุมชนที่มาจากการสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ มีระบบสารสนเทศในการจัดเก็บข้อมูลของป่าและบริการทางนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงกลไกบริหารจัดการที่มีชุมชนเป็นคณะกรรมการและติดตามผลดำเนินการมากกว่า 50 ปี
ชุมชนแม่ทาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดสรรที่ดิน โดยประยุกต์ข้อมูลที่มีร่วมกับงานวิชาการและกฎหมายเพื่อต่อรองอำนาจรัฐ อาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย, ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน มาตรา 66 ระบุถึงสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสิทธิดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น, และ มาตรา 67 บัญญัติไว้ว่าสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ และชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกัน
เราจะเห็นมิติของ “คน” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น มีบริการข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับพูดคุย หรือต่อยอดการทำงาน โดยที่ชาวบ้านเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้มาจากคนที่ไม่รู้ปัญหามาดำเนินการแก้ไขซึ่งเป็นรูปแบบ Top-Down Approach แต่มาจากเสียงของชาวบ้านที่เจอกับปัญหาจริงๆ ซึ่งตอบกับความต้องการของพวกเขาเองแล้วสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ก่อนเราจะเห็นว่าน้ำหนักอำนาจสั่งการตกอยู่ที่รัฐ แต่แม่ทาพยายามใช้กลไกธรรมาภิบาลเพื่อดึงอำนาจรัฐให้สมดุลกับอำนาจประชาชน นำมาสู่การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อการสะท้อนและแก้ไขปัญหา บริบทของคนจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับป่ามากขึ้น และจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าพวกเขาในฐานะชาวบ้านที่คุ้นชินกับทรัพยากรจะไม่เข้ามาแก้ไขและบริหารจัดการพื้นที่ป่าแห่งนี้ซะเอง
แม่ทา กลายเป็นต้นแบบการจัดการป่าชุมชนให้กับหลายๆ พื้นที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ทำกินสัมพันธ์กับทรัพยากรป่าไม้ เช่นเดียวกับ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่านที่อดีตเป็นเคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก ใช้สารเคมีในระดับที่รุนแรงซึ่งปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำน่าน ต้นน้ำสำคัญที่ไหลบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่เราใช้อุปโภค-บริโภค
สันติสุข จังหวัดน่าน กำลังฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและทรัพยากรทางธรรมชาติให้กลับคืนมาเหมือนเดิม โดยมีชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าไม้ ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในช่วงระดมทุนภายใต้ โครงการต้นไม้ของเรา (Tree for All: T4A) เพื่อเป็นทุนให้เกษตรกรมีความมั่นใจหันมาดูแลฟื้นฟูพื้นที่ป่า โดยผู้บริจาค 100 บาท แลกมากับกล้าไม้และการติดตามผลตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้เลือกกล้าไม้ลงดินให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ลดปลูกข้าวโพดเพื่อปศุสัตว์ หรือพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ในอนาคต (สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://taejai.com/th/d/tree-for-all/)
------------------------
บทความลงมือสู้โกง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน หลักธรรมาภิบาล สู่ การจัดการป่าชุมชน
Author
Earth-Wannapon Homchan
ผู้จัดการโครงการ นักวางแผนสื่อสารและเชื่อมโยงธรรมาภิบาลกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สนใจวัฒนธรรมร่วมสมัย ความมั่นคงทางอาหาร และแอบเป็นนักปรุงอาหารมือสมัครเล่น