ผู้ว่าฯ กทม.ต้องสนใจเรื่องต้านโกง!

04.05.2022

สรุปประเด็น

จากกรณีการเรียกเงินเกือบสิบล้านจากเอกชนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนแต่ผลกลับกลายเป็นว่าคนทำผิดยังสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป ส่วนคนร้องเรียนกลับถูกตรวจสอบ ทำให้เห็นว่ากระบวนการของรัฐไม่ได้จริงจังกับการคอร์รัปชัน ถือเป็นหนึ่งเหตุผลที่ประชาชนไม่อยากจะร้องเรียนการทุจริต


แต่หน่วยงานต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ และประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้สังคมสนใจเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้นได้ เพื่อกดดันให้ผู้สมัครฯ ออกมาสัญญาเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันและยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ และเราเองก็ควรให้ความสนใจนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วยเช่นกัน

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊คส่วนตัวเรื่อง กทม. ไม่ปราบคอร์รัปชันแล้วจะพัฒนาได้อย่างไร? โดยถึงกับเริ่มต้นบทความด้วยคำว่า “เหนื่อยใจ” เลยทีเดียว ดร.มานะอธิบาย ต่อว่า ที่เหนื่อยใจก็เพราะไม่เห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเท่าไหร่เลย ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้กันดีว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่มากใน กทม. เป็นรูรั่วขนาดใหญ่ของงบประมาณมหาศาลที่ กทม. ใช้ในแต่ละปีกว่า 8 หมื่นล้านบาท นี่ยังไม่รวมผลประโยชน์จากการให้เอกชนเช่าที่ดิน ทรัพย์สิน ให้สัมปทาน และการออกใบอนุญาตสำหรับประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย โดยได้สรุปให้เห็นภาพชัด ๆ ว่า การคอร์รัปชันที่ใหญ่ๆ ใน กทม. มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่


หนึ่ง รีดไถประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ เช่น รีดไถค่าออกใบอนุญาตอนุมัติในการสร้างและต่อเติมบ้าน - อาคาร - ร้านค้า - อาคารพาณิชย์ - หมู่บ้านจัดสรร - คอนโดฯ


สอง เรียกรับส่วยสินบน จากผู้ประกอบการแลกกับการทำผิดหรือจ่ายภาษีเข้ารัฐน้อยลง เช่น เรียกเงินใต้โต๊ะจากคนค้าขายแลกกับการจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่าเป็นจริง


สาม โกงเงินหลวงในการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สิทธิ์ สัมปทานแก่เอกชน เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กรณีอุโมงค์ไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท กรณีอื้อฉาว เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า ค่าดูแลสวนสาธารณะ การจัดอีเว้นท์โดยส่วนกลางหรือสำนักงานเขต


สี่ ใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น กรณีปล่อยให้มีตลาดนัดเถื่อน เช่น กรณีป้าทุบรถที่เขตสวนหลวง คดีลักลอบทิ้งขยะที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม กรณีปล่อยให้เอกชนสร้างคอนโดฯ หรูแต่เปิดใช้ไม่ได้ ที่ซอยอโศกและซอยร่วมฤดี


และได้กล่าวปิดท้ายอีกครั้งว่า “การเลือกตั้งในเมืองหลวงของประเทศ หากยังเน้นขายฝันเช่นวันนี้ก็อย่าหวังให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชันได้เลย...ขอบ่นดัง ๆ ว่าเหนื่อยใจครับ”


ผมถูกใจบทความนี้ของ ดร.มานะ มาก เพราะโดนใจผมตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้ายเลยครับ เพราะผมเฝ้าติดตามดูการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่าง ๆ ที่ผ่านมาหลายปี ตั้งแต่เลือกตั้งทั่วไประดับประเทศ จนถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ผมพบว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันน้อยจริงๆ ดูจากป้ายโฆษณาหาเสียงที่มักเอานโยบายสำคัญ ๆ ขึ้นมาเขียน แทบจะไม่เคยเห็นคำว่าคอร์รัปชันเลย ที่พอจะมีบ้างก็ต้องไปดูในเอกสารหรือในเว็บไซต์ที่เขียนนโยบายโดยละเอียด แต่ก็มักจะเขียนไว้อย่างคร่าว ๆ เช่น จะต่อต้านการทุจริต จะไม่รับสินบน แต่ไม่ได้เขียนรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่


ไม่ใช่แค่ตอนเลือกตั้งเท่านั้นที่ไม่สนใจ ตอนเข้าไปทำงานแล้วก็ไม่ค่อยสนใจครับ จากประสบการณ์ตรงของผมเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เคยได้เข้าไปทำงานในคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในกรุงเทพมหานคร ที่มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า ป.ป.ช. กทม. ซึ่งกรรมการชุดนี้มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานฯ แต่งตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในสมัยแรกของการที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ดูเป็นการเริ่มต้นด้วยดีและมีความหวัง โดยข้าราชการได้นำเอาระบบประเมินความดีความชอบประจำปีที่ได้มีการวางระบบไว้ดีมาก มีการให้คะแนนการกระทำที่มีคุณธรรม ปราศจากการทุจริต ไว้อย่างละเอียดเป็นหมวดหมู่ ประกอบกับคุณภาพของข้าราชการ กทม. ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นที่มีคุณภาพที่ดี ผมจึงมองว่าการทำงานของกรรมการชุดฯ น่าจะได้ออกมาดีมีอนาคต


แต่ปรากฏว่า การร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ เข้ามามีน้อยมาก เรื่องที่สอบแล้วมีการลงโทษได้จริง มีอยู่แค่ 1 คดี คือคดีทุจริตขายน้ำแดงในโรงเรียน ส่วนคดีใหญ่ซึ่งกิจการเอกชนรายหนึ่งถูกเรียกเงินให้จ่ายสินบนจากระดับผู้อำนวยการที่มีอำนาจประเมินภาษีบำรุงท้องถิ่น เป็นเงินเกือบสิบล้านบาท เพื่อแลกกลับการที่จะประเมินรายรับให้ลดลง กรณีนี้ถึงแม้ว่าผู้ร้องเรียนจะมีหลักฐานที่ดูว่าแน่นหนามากเพราะผู้เรียกร้องเงินได้เข้าไปในห้องของผู้บริหารของเอกชนด้วยตัวเอง และถูกกล้อง CCTV อัดภาพและเสียงไว้อย่างชัดเจน ว่ามีการเรียกร้องเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะสมยอมประเมินรายได้ของเอกชนรายนั้นให้ลดลงได้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไป แต่ฝ่ายข้าราชการประจำ กทม. ขอไปตั้งคณะกรรมการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเอง แล้วตัดสินว่าหลักฐานที่บันทึกไว้นั้น มีเพียงจากหลักฐานชิ้นเดียว จึงอาจถูกการตกแต่งขึ้นได้ และมีพยานจากผู้กล่าวหาเพียงท่านเดียว จึงไม่เพียงพอ ที่จะตัดสินลงโทษได้ มันเป็นไปได้อย่างไร!


สรุปว่า ผู้อำนวยการคนนั้นก็ยังคงได้อยู่ในตำแหน่งเดิม ที่เดิม และทำหน้าที่เดิมในปีต่อมา แล้วก็ได้เข้าไปประเมินภาษีของเอกชนรายเก่า ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนอีกด้วย! น่าสงสารเอกชนรายนั้น ที่ประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม ไม่ยอมร่วมกระทำสิ่งผิด ๆ แม้จะมีผลลดค่าใช้จ่ายภาษีของธุรกิจของตนก็ตาม กลับกลายเป็นต้องถูกลงโทษจากการทำดีไปเสีย เรื่องนี้เลยทำให้ คณะกรรมการฯ ป.ป.ช. กทม. ไม่เคยได้รับการร้องเรียนจากเอกชนอีกเลย! แน่สิครับใครจะกล้าอีกล่ะครับ


ผมก็แปลกใจว่าทำไมถึงไม่ให้ความสนใจกัน ทั้ง ๆ ที่ถ้าแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ก็จะเหลือเงินงบประมาณมหาศาลมาใช้ในการให้สวัสดิการกับประชาชน และทำโครงการแก้ไขปัญหาสังคมอื่นๆ ตามที่เคยสัญญาไว้ตอนเลือกตั้งอีกมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สาธารณสุข ปัญหาจราจร และอื่น ๆ อีกมากมาย


ในทางกลับกัน ถ้าไม่เริ่มที่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังเสียก่อน ต่อให้ผลักดันโครงการตามนโยบายมามากแค่ไหน โอกาสที่โครงการเหล่านั้นจะไม่สำเร็จพัง หรือเงินไม่พอก็จะสูงมาก อย่างที่เราเห็นอยู่มากมายตลอดเวลาที่ผ่านมา ตามที่ ดร.มานะ เขียนอธิบายไว้ข้างต้น


วันนี้ผมเลยขอจบบทความคล้าย ๆ ดร.มานะ ว่า ผมก็เหนื่อยใจมากเหมือนกัน แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง ที่ช่วงโค้งสุดท้ายนี้เริ่มมีสื่อสาธารณะชวนผู้สมัครฯ ต่างๆ มาดีเบตกัน แล้วมีคำถามเรื่องสินบนเทศกิจมาให้แข่งกันตอบ ถึงแม้คำตอบจะยังไม่ค่อยชัดเจน แต่ก็เริ่มเห็นว่าผู้สมัครฯ ก็พอจะสนใจอยู่บ้าง


ผมขอสนับสนุนให้หน่วยงานต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ ออกมากระตุ้นให้สังคมสนใจเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้น เพื่อกดดันให้ผู้สมัครฯ ออกมาสัญญาเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันและยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ และวิงวอนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกท่าน ให้ความสนใจนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในดวงใจของท่านด้วยนะครับ


-------------------------


บทความแนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ผู้ว่าฯ กทม.ต้องสนใจเรื่องต้านโกง!

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน