ปัญหาสินบน ต้องเริ่มแก้ที่ไหน

03.08.2022

สรุปประเด็น

อัตราการคอร์รัปชันที่ลดลงอาจมาจากการหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับโดยมาตรการและเครื่องมือใหม่ ๆ ในปัจจุบัน เราจึงต้องเร่งหาหนทางแก้ไข


ควรมีการเปิดเผยขั้นตอนการดำเนินการและกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตแต่ละประเภทอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อมีความโปร่งใส ผู้ที่มีอำนาจในการออกในอนุญาตและผู้ที่คิดจะติดสินบนก็จะอยู่ในความสว่าง เห็นได้ทุกขั้นตอน ทำให้ไม่สามารถกระทำความผิดเหมือนแต่เดิมที่เคยทำอยู่ในห้องมืด ๆ ได้

ปัญหาสินบนดูจะเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะจากที่ดูผ่านๆ และจากประสบการณ์รอบๆ ตัว ก็ดูเหมือนจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีมาตรการป้องกันต่างๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ


ถ้าเราได้ไปศึกษารายละเอียดเรื่องสินบนจริงๆจะพบว่ามันมีความซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้มาก ทั้งในแง่บวกและลบ โดยข้อมูลจากงานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติและประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2557 พบว่า


“จำนวนครั้งของการติดต่อราชการของครัวเรือนลดลงมาก โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้สูง และพบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่ถูกเรียกสินบนรวมไปถึงมูลค่าของสินบน ลดลงจาก 15,000 ล้านบาท ในปี 2542 เหลือ 5,000 ล้านบาท ในปี 2557” และพบว่า “การจ่ายสินบนระดับครัวเรือนลดน้อยลง จำนวนนักธุรกิจที่ต้องจ่ายสินบนจากเดิมที่ต้องจ่ายกัน 70-80% เมื่อปี 2547 หรือประมาณ 10 ปีก่อนหน้านี้ ปรับลดลงมาเหลือ 15-20% ในปี 2557”ซึ่งส่วนนี้ดูเหมือนจะแปลความหมายได้ว่า ปัญหาสินบนของไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ


อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ อาจารย์ธานี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติแล้ว พบว่าการลดลงของมูลค่าการคอร์รัปชันในพื้นที่ต่างๆ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หากมองในแง่ดีนั่นอาจสื่อได้ว่า การคอร์รัปชันมีการลดลงทั้งระบบ แต่ในมุมหนึ่งก็มองได้ว่า การคอร์รัปชันมีการเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ ไปจากเดิมทั้งระบบ” นั่นหมายความว่า ปัญหาสินบนนี้ก็ยังอยู่ และอาจจะมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ แต่เราไม่เห็นเพราะมันเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับได้โดยมาตรการและเครื่องมือใหม่ๆ ในปัจจุบัน


รู้แบบนี้แล้วเราจะทำอย่างไรต่อดี เพราะถ้าปล่อยไว้ประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตในทุกๆ ทางอยู่ตอนนี้ คงจะลำบากกว่านี้อีกแน่ๆ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากอดีตมาว่า อะไรที่เราเคยทำแล้วช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง ซึ่งถ้าดูดีๆ จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่ากุญแจสำคัญดอกหนึ่งคือ “จำนวนครั้งของการติดต่อราชการของครัวเรือนลดลงมาก” เพราะการพบปะของข้าราชการกับประชาชนนั้นเปิดโอกาสต่อการเรียกรับและให้สินบนได้ หากเราสามารถลดการพบปะลง โดยยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เท่าหรือมากกว่าเดิมได้ ก็จะเป็นโอกาสแก้ไขปัญหาสินบนได้อย่างแท้จริง


หากบทเรียนนี้เป็นเรื่องจริง เราก็คงยังมีความหวังอยู่บ้างเพราะวันนี้ประเทศไทยเรามีกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558” ที่เกิดจากการผลักดันของภาคประชาชน นำโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นหลักเริ่มต้นให้หน่วยงานรัฐต้องใส่ใจเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และลดต้นทุนของประชาชนในการเข้ามารับบริการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นหมายถึงการลดโอกาสการพบปะระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่จำเป็นนั่นเอง


ถึงปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งลดน้อยลง เหตุเพราะประชาชนไม่จำเป็นต้องจ่ายสินบนในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป


ขออนุญาตยกตัวอย่างให้ดู จากเดิมที่ประชาชนจะไปติดต่อขอเอกสารหรือขอใบอนุญาตต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ โดยแทบจะไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองได้ หรือหากจะทำด้วยตนเองก็จะต้องเสียเวลา เป็นอย่างมาก เพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนไปเดินเอกสารเองก็ต้องผ่านหลายโต๊ะ จนในที่สุดก็ต้องอาศัยนายหน้า ซึ่งยืนอยู่หน้าสถานที่ราชการแทบทุกแห่ง ให้มาช่วยดำเนินการ โดยมีค่าบริการ ตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักล้านบาท ต่อใบอนุญาต 1 ใบ


หนึ่งในใบอนุญาตที่แพงที่สุด ที่นักธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์รู้ดีว่าเป็นต้นทุนการก่อสร้าง ที่ต้องเตรียมไว้ก็คือใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้พยายามจัดการให้บริษัทเอกชนร่วมมือกันไม่ยอมจ่ายสินบน โดยเคยจัดการบรรยาย สัมมนากันหลายครั้ง ครั้งหนึ่งผมขึ้นเวทีไปชี้แจงว่ามีกฎหมายออกมาใหม่แล้ว กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการพิจารณาออกใบอนุญาตของทางราชการ ดังนั้นหากบังคับใช้จริงจัง เราคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงกันเร็วๆ นี้


พอบรรยายเสร็จ เดินลงมาจากเวที ก็ได้รับการตอบรับจากคนรู้จักคนหนึ่งที่นั่งฟังอยู่ว่า “เรื่องนี้อาจารย์ปล่อยให้เอกชนเขาทำตามแบบเดิมที่มันเข้าระบบเดินไปได้ดีอยู่แล้วจะดีกว่า อย่าไปยุ่งกับเขาเลย” ผมเลยรีบตอบกลับไปว่า “ไม่ได้ จะดำเนินธุรกิจแข่งขันกัน ก็ต้องอยู่ในกติกาเดียวกัน ไม่ใช่ใช้เงินสินบนเปิดทางให้ก่อสร้างได้พื้นที่มากกว่า ถูกกว่า และได้ใบอนุญาตเร็วกว่าคู่แข่งขันที่ทำตามกติกาของข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นทุกบริษัทก็ต้องมีต้นทุนของตัวเอง สุดท้ายก็จะมีไม่ใครอยู่รอดสักคน”


เรื่องนี้มีตัวอย่างที่แย่สุดๆ ก็คือบริษัทหนึ่งสามารถใช้วิธี ขอใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อสร้างอาคาร 7 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก สามารถขอใบอนุญาตได้เร็ว แล้วค่อยมาขออนุญาตดัดแปลงเป็นอาคาร 50 ชั้น ในภายหลังที่ได้ตอกเข็มขนาดใหญ่ลงไปรอไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งมันไม่ควรจะทำได้ แต่เจ้าหน้าที่มาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการ รัฐสภาว่า เขาตีความตามกฎหมายแล้ว เขามีอำนาจทำได้


การให้สินบนเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันในธุรกิจถือว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมอย่างมาก ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจึงมีกฎหมายลงโทษบริษัทที่ไปให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศต่างๆ อย่างรุนแรง และจริงจัง นักการเมืองไทยหลายคนที่รู้รู้กันในบ้านเราว่าทุจริต แต่ไม่มีใครเอาผิดได้ กลับมีเรื่องราวฉาวโฉ่เพราะต่างประเทศลงโทษคนของเขาที่มาจ่ายเงินสินบนให้แก่นักการเมืองในประเทศไทย และการที่ประเทศไทยยังมีการเรียกสินบนต่างๆ กับนักธุรกิจ รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศรอบๆ บ้านเราแทน


เรื่องนี้ ป.ป.ช. เคยแถลงว่ามีเงินไหลเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินผิดกฎหมายจำนวนนี้ มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งเงินติดสินบนข้ามชาติ เข้ามาให้นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็มักจะนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อบ้านซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ค่อยจะได้เข้าไปไหลเวียนในเศรษฐกิจไทยเสียเท่าไหร่


ถ้าเราพอจะเห็นและเข้าใจปัญหาสินบนมากขึ้นแล้ว เราจะผลักดันอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผมขอเน้นว่าต้องเปิดเผยขั้นตอนการดำเนินการ และกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตแต่ละประเภทออกมาอย่างโปร่งใส ให้ประชาทุกคนทุกคนสามารถเข้าถึงรายละเอียดวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตต่างๆ นั้นโดยละเอียดและมีคำอธิบายแน่ชัดว่าต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะได้รับใบอนุญาตนั้นๆ


เพราะเมื่อมีความโปร่งใส เช่นนี้แล้ว ผู้ที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตต่างๆ อยู่ในความสว่าง มีผู้คนทั่วไปได้เห็นทุกขั้นตอน ก็ย่อมจะไม่สามารถกระทำความผิดเหมือนแต่เดิม ที่เคยทำอยู่ในห้องมืดๆ ได้อีก รวมทั้งผู้ที่คิดจะให้สินบน ก็ไม่สามารถกระทำในที่สว่างได้อีกเช่นกัน


-------------------------


บทความแนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ปัญหาสินบน ต้องเริ่มแก้ที่ไหน

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน