หรือสื่อไทย ยกผลกำไรมาก่อนจรรยาบรรณ
16.11.2022
สรุปประเด็น
สื่อเป็นการทำธุรกิจที่ต้องการกำไร จึงจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อให้มาซึ่งข้อมูลที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรยึดผลกำไรมาก่อนจรรยาบรรณ
ตัวอย่างที่ล้มเหลวก็มีให้เห็นทั้งในต่างประเทศและในไทย หากเห็นแล้วยังนิ่งดูดายไม่แก้ไข อนาคตความเชื่อใจของคนที่มีต่อสื่อไทยคงลดลง และหมดความน่าเชื่อถือในที่สุด
สื่อจึงควรนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในองค์กร ซึ่งหากยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลแล้ว อนาคตสื่อไทยจะกลายเป็นสื่อที่สร้างสรรค์และให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านได้อย่างแน่นอน
คำว่า จรรยาบรรณ หากไปดูนิยามศัพท์ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดไว้ว่า “ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิกอาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” หรือแปลง่าย ๆ ตามความเข้าใจผู้เขียนคือ หลักการในการประกอบอาชีพที่คนในแวดวงอาชีพนั้นเห็นตรงกันว่าควรปฏิบัติตาม
จรรยาบรรณสื่อไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์ หรือกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ สื่อหลายสำนักก็มีการนำเสนอจรรยาบรรณแตกต่างกันออกไปโดยมีรากฐานจากข้อบังคับด้านจริยธรรมของสื่อตามมาตรา 42 พ.ศ. 2551 ได้แก่
1. ความเที่ยงตรง เป็นกลาง เป็นธรรม
2. ความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน
3. การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
4. การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม อบายมุข และภาษาอันหยาบคาย
5. การปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก
6. การจ่ายเงินแก่แหล่งข่าว การรับรางวัลหรือผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เสนอข่าว หรือมีส่วนร่วมในการกระทำใดอันกระทำให้ขาดความเป็นธรรมและความเป็นอิสระของวิชาชีพ
7. การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ดีแม้จะมีหลักปฏิบัติเป็นกรอบให้ แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นพฤติกรรมดังกล่าวปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวอยู่เป็นประจำ
หากเรามองสื่อไทยก่อนจะมี Social Media พบว่าสื่อก็พอจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้างไม่ได้มากเหมือนในปัจจุบัน เท่าที่ผู้เขียนจำได้จุดเริ่มต้นที่จรรยาบรรณของสื่อเริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้างจริง ๆ เกิดขึ้นในคดีโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช พ.ศ. 2563 ที่ตอนนั้นสื่อหลายสำนักเน้นการนำเสนอเพื่อดึงยอดการรับชมด้วยการสร้างเนื้อหาที่แตกต่างและทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการรีบเข้าถึงญาติของเหยื่อโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึก การทำกราฟิกที่สมจริงเพื่อนำเสนอภาพความรุนแรง แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือการรายงานตำแหน่งของเหยื่อ จนลืมตระหนักถึงความปลอดภัย เป็นที่มาของการติดแฮชแท็ก #สื่อไร้จรรยาบรรณ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทำให้สุดท้ายสื่อหลายสำนักก็ต้องรีบออกมาขอโทษขอโพยกันยกใหญ่
นับตั้งแต่นั้นมาสื่อไทยก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าเรื่องการขาดการนำเสนอเชิงสร้างสรรค์ เช่น ตามติดชีวิตลุงพล ผู้ต้องสงสัยจากคดีฆาตกรรมมาลงหน้าสื่อจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เรื่องของการนำเสนออย่างไม่คัดกรองจนเกิดความสับสน เช่น กรณีของการเสียชีวิตของนักแสดงชื่อดัง แตงโม-นิดา
อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กราดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในมุมมองผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่า สื่อเริ่มมีการระมัดระวังมากขึ้น มีการช่วยกันแชร์ข้อควรระวังในการนำเสนอ แต่ก็ยังมีบางสื่อบางสำนักที่ยังพยายามเรียกยอดการรับชมจากความสูญเสียของญาติพี่น้องของเหยื่อ แม้จะมีสื่อที่ดีมากเท่าไหร่แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังมีสื่อบางกลุ่มที่ยังไม่ตระหนักถึงจรรยาบรรณในหน้าที่ของตน
ธรรมาภิบาลเป็นหลักการบริหารที่ดีที่จะให้องค์กรมีประสิทธิภาพและมีกรอบในการปฏิบัติทำตามหน้าที่ที่ชัดเจน โดยผู้เขียนเห็นว่ามี 3 หลักสำคัญได้แก่
1. หลักความรับผิดชอบ เพราะทุกการกระทำ ทุกการนำเสนอของสื่อย่อมมีผลที่ตามมา สื่อควรคำนึงงานที่ทำว่าได้ให้ประโยชน์อะไรกับสังคมหรือทำไปแล้วจะมีใครเดือดร้อนหรือไม่ หากินกับการสูญเสียหรือความทุกข์ของผู้อื่นหรือไม่ ความรับผิดชอบของสื่อคือการนึกถึงสิ่งเหล่านี้ก่อนจะเริ่มลงมือทำหรือนำเสนอ 2. หลักนิติธรรม แม้ว่าตามกฎหมาย มาตรา 34 คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนทั่วไป และมาตรา 35 เสรีภาพในการนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน จะได้รองรับสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอสื่อ แต่อย่างไรในการทำของสื่อก็ต้องไม่ไปละเมิดกฎหมายอื่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างกฎหมาย มาตรา 40 ที่สื่อมีโอกาสถูกเรียกค่าเสียหายหากมีผู้ร้องเรียนว่าสื่อรายงานข่าวให้ได้รับความเสียหาย ให้ความเท็จหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือในกรณีเหตุการณ์เกิดขึ้นในโคราชที่สื่อได้บอกพิกัดของเหยื่อในเหตุการณ์ มีโอกาสผิดกฎหมายมาตรา 420 ฐานประมาทเลินเล่อส่งผลให้ผู้อื่นอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการเป็นสื่อจึงควรปฏิบัติตามหลักกฎหมายเพื่อไม่ให้ไปหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและตนเอง
3. หลักการมีส่วนร่วม ในเรื่องของการมีส่วนร่วมจากประชาชน เราคงเห็นกันอยู่แล้วว่าทุกวันนี้ประชาชนแทบจะตรวจสอบสื่อแบบแทบจะทุกย่างก้าว ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่สื่อเพราะถ้าหากประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบ ให้ข้อคิดเห็นมากมาย แต่สื่อกลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขเพื่อพัฒนาให้รูปแบบการนำเสนอดีขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนคงไร้ความหมาย
ในมุมมองผู้เขียนคิดว่าเรื่องจรรยาบรรณเป็นข้อผิดพลาดที่อาจทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงที่ต้องพึงระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็นับว่าตัวเองเป็นสื่อคนหนึ่งจึงต้องระวังอยู่เสมอโดยยึดจากหลักของธรรมาภิบาล ที่คิดว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นสื่อองค์กรหรือสื่อภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือการทำมาร์เก็ตติ้ง
------------------------
บทความลงมือสู้โกง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน เหตุใดจรรยาบรรณควรมีธรรมาภิบาล
Author
Surawat dewa
Content Writer ผู้ชอบที่จะเขียนประเด็นสังคมและสนใจรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันจะหา “วัน Copy” ที่ดีที่สุดให้เจอ และจะกลายเป็นราชาแห่งการเขียนให้ได้เลย!!