แก้คอร์รัปชันแบบไทย พาค่าชี้วัด CPI สวนทางกับคำพูด

28.12.2022

สรุปประเด็น

ผู้นำรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง จะยกระดับคะแนน CPI ทั้งประกาศเป็นเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ทำให้ค่าคะแนน CPI เปลี่ยนแปลงไปในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา


คำถาม คือ ทิศทางและวิธีการในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มคะแนน CPI ตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ?


วิธีการยกระดับคะแนน CPI อาจไม่ใช่การเก็งข้อสอบเพื่อให้รู้ได้ว่าการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ประเมินอย่างไร ถามใคร ด้วยคำถามอะไร แต่ควรจะเป็นการทำหน้าที่ตามปกติอย่างมีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันของหน่วยงานตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปสู่องค์กรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้นไป มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในปีนี้และหลายสิ่งก็กำลังจะพ้นไปพร้อมกับปี 2565 อย่างแรกคือวาระ 4 ปีของรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงต้น ๆ ปีหน้า ปีของการเลือกตั้งกำลังโหมกระหน่ำ สส.กว่า 30-40 ชีวิตลาออกย้ายพรรค สภาที่ล่มบ่อยอยู่แล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่เป็น สส.พรรครัฐบาล บางพรรคก็เริ่มเปิดนโยบายขายวิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทย ในขณะที่บางพรรคเพิ่งจะเปิดตัว แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “พรรคใหม่แต่คนเดิมนะจ๊ะ” สำหรับแคนดิเดตนายกฯ นั้นก็มีให้ประชาชนคนไทยได้เลือกทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า สิ่งที่ต้องรอลุ้นต่อไปก็คือ นโยบายที่นอกจากเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว จะมีพรรคการเมืองไหนที่ให้ความสำคัญกับนโยบายในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างชัดเจน จริงจัง และเป็นรูปธรรมบ้าง


เวลากำลังจะผ่านพ้นไปพร้อมกับเป้าหมายคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (คะแนน CPI) ที่ประเมินโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ว่าประเทศไทยต้องได้ถึง 50 คะแนนภายในปีนี้ แต่จากการประกาศคะแนนของปี 2564 ประเทศไทยได้เพียงแค่ 35 คะแนน ต่ำกว่าแผนถึง 15 คะแนน ส่วนของปี 2565 ก็ต้องรอลุ้นช่วงประมาณเดือนมกราคม 2566 ว่าคะแนนจะเพิ่มหรือไม่ 


เราได้ยินตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า ผู้นำรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง จะยกระดับคะแนน CPI ทั้งประกาศเป็นเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเราได้เห็นการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่พยายามหาวิธีเพิ่มคะแนน CPI ทั้งทำการศึกษา หาแนวทางการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ตั้งคณะทำงานหลายต่อหลายชุด ใช้งบประมาณทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเอาจริงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน


แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ทำให้ค่าคะแนน CPI เปลี่ยนแปลงไปในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเดือนก่อน คณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบระยะที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึงปี 2570 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ ในการปรับเป้าหมายของปี 2566 เพิ่มคะแนน CPI ของประเทศไทยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 51 คะแนนหรือติดอันดับที่ 53 ของโลก อ่านดูแล้วไม่รู้จะเริ่มสงสารใครก่อนดีเพราะเป้าหมายเดิมทำให้ได้ยังยากเลย


สิ่งที่ควรทำคือการตั้งคำถามต่อทิศทางและวิธีการในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มคะแนน CPI ตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ วิธีการยกระดับคะแนน CPI อาจไม่ใช่การเก็งข้อสอบเพื่อให้รู้ได้ว่าการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ประเมินอย่างไร ถามใคร ด้วยคำถามอะไร แต่ควรจะเป็นการทำหน้าที่ตามปกติอย่างมีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันของหน่วยงานตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปสู่องค์กรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลและองค์กรต่างๆ เอาจริง ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ลงโทษผู้กระทำความผิดและดำเนินการต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ขัดกับความรู้สึกของสังคม และที่สำคัญคือการทำงานอย่างเป็น “อิสระ” จากการเมืองและความเชื่อมโยงกับผู้นำรัฐบาล 


การบริหารงานของภาครัฐเองก็ควรดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ให้สำเร็จรวดเร็ว เช่นการปรับปรุงกฎหมาย ลดขั้นตอน ลดโอกาสและช่องว่างในการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐจากการขอใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ซึ่งทราบว่าดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลก่อน จนตอนนี้ไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ปรับปรุงอะไรไปแล้วบ้าง อีกทั้งการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นผ่านการ “เปิดเผยข้อมูล” ของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด และควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสารเพื่อเพิ่มและยืนยันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ใช่เป็นการแก้กฎหมายเพิ่มสนับสนุนให้ภาครัฐปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลได้มากขึ้น อย่างที่ได้เคยพยายามทำในช่วงปีที่ผ่านมา


การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะทำให้ประชาชนรับรู้การดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐ รับรู้ขั้นตอนและการใช้งบประมาณ การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐจริงใจในการเปิดเผยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ เน้นย้ำอีกครั้งว่า “อยากโปร่งใสต้องเปิดเผย” 


ยกตัวอย่าง การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านหน้าเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ที่มีกำหนดระยะเวลาในการเปิดข้อมูลเพียงแค่ 180 วัน ทั้งที่ข้อมูลนี้ควรจะเปิดตลอดเวลาเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูเว็บไซต์นี้เมื่อวันก่อนก็หลงดีใจเห็นว่ามีการปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ แต่ดันเป็นการปรับปรุง “แบบถอยหลัง” ที่ทำให้ไม่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกมาได้เหมือนก่อน ดูข้อมูลก็ยากขึ้น


หวังว่าในปี 2566 ทาง ป.ป.ช. จะเปลี่ยนใจและเปิดข้อมูลชุดนี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวก มีมาตรฐานของข้อมูลและเปิดให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้งานต่อได้ ไม่แน่ว่าแค่จุดเล็กๆ แบบนี้อาจจะทำให้คะแนน CPI เพิ่มได้ไม่รู้ตัว ก็ได้แต่หวังว่าในปี 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะมีวิธีการและมาตรการใหม่ๆ ที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มคะแนน CPI และจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่าที่ผ่านมา



------------------------


ลงมือสู้โกง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน แก้คอร์รัปชันแบบไทย พาค่าชี้วัด CPI สวนทางกับคำพูด


Author

Nattapat Neokul

การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นงานที่ต้องใช้พลังงานเยอะ มักทำให้ผมหิวตลอดเวลา และจริงๆ ทำงานเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่แค่เปิด แต่ต้องจัดการข้อมูลมหึมาให้ง่ายต่อคนใช้งานด้วย ~ ขอตัวไปหยิบขนมก่อนนะครับ