บอลจบ คนไม่จบ โกงจะจบ?
21.12.2022
สรุปประเด็น
นอกเหนือจากการยินดีกับชัยชนะ บอลโลกครั้งนี้ยังมีมุมมองเกี่ยวกับ “ความไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพหรือไร้ธรรมาภิบาล” ที่น่าจับตามองอยู่ 6 ข้อ
1.ความโปร่งใสของเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้อย่างกาตาร์ ที่มีทั้งข่าวการติดสินบนเจ้าหน้าที่ในการโหวตเพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าภาพ อีกทั้งหลังจากการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพแล้วเนื่องจากต้องเนรมิตสนามแข่งที่รองรับความจุหลักหลายหมื่นคนทั้งหมด 8 สนาม ประกอบกับประชากรในประเทศมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ทำให้ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติจำนวนมาก และด้วยเวลาที่จำกัดจึงมีข่าวว่าแรงงานถูกใช้ให้ทำงานมากกว่า 84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีรายงานข่าวว่าแรงงานที่มาช่วยเนรมิตสนามให้พร้อมแข่งหลักหลายพันคนต้องมาสังเวยชีวิต อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าจริงหรือไม่
2.ในประเทศไทยเองก็มีข้อกังขาถึงการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ทั้งช้าและราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรียกว่าเป็นชาติสุดท้ายในอาเซียน นั่นทำให้เราได้ซื้อลิขสิทธิ์ในราคากว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศในแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียที่ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 261 ล้านบาท ครอบคลุมการถ่ายทอดสด 27 นัด เวียดนาม (ประชากรราว 98 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 532 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกเกม (64 นัด) สิงคโปร์ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 670 ล้านบาท ถ่ายทอดสด 9 นัด ฟิลิปปินส์ (ประชากรราว 111 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 1,306 ล้านบาท อินโดนีเซีย (ประชากรราว 276 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมูลค่า 1,456 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกนัด จนเกิดข้อสันนิษฐานว่า หรือนี่จะเกี่ยวข้องกับการเล่นการเมือง ซึ่งผมไม่คิดว่าจริงนะครับ ส่วนตัวยังเชื่อว่าเป็นเพราะกฎ MUST HAVE และ MUST CARRY มากกว่า
3.กฎ MUST HAVE และ MUST CARRY ที่เป็นกฎบังคับให้การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา 7 ประเภท ประชาชนจะต้องได้ดูฟรี ทำให้กลายเป็นดาบสองคมที่ขัดขวางกลไกตลาดจนทำให้ไม่มีใครอยากซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาถ่ายเพราะโอกาสขาดทุนสูง
4.การใช้กองทุนผิดวัตถุประสงค์ของ กสทช. ที่แต่เดิมกองทุน กทปส. มีไว้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมให้กับประชาชน แต่กลับถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์บอลโลก 2022
5.การจัดสรรลิขสิทธิ์ที่ไม่โปร่งใส ไม่มีการเปิดสัญญาให้ประชาชนได้รับรู้ ว่าจัดสรรกันอย่างไร ทำไมผู้ที่ร่วมลงขันบางรายถึงมีสิทธิ์มากกว่า ทั้งที่เงินส่วนหนึ่งในนั้นหรือเงินจำนวน 600 ล้านบาทมาจากเงินของรัฐ
6.จะต้องระวังสิ่งที่เรียกว่า Sportwashing หรือการฟอกด้วยกีฬา คือการปฏิบัติของบุคคล บริษัท นักการเมือง หรือรัฐบาลที่ใช้กีฬาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างคะแนนนิยม ปรับปรุงชื่อเสียงที่มัวหมองจากการกระทำผิด เป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อทางอ้อม (ว่าเป็นคนดี) การฟอกด้วยกีฬาสามารถทำได้ผ่านการจัดการแข่งขันกีฬา การเชิญนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมาแข่งขันในประเทศ การซื้อหรือสนับสนุนทีมกีฬา หรือการเข้าร่วมในกีฬา ไปจนถึงการอำนวยการให้เกิดการถ่ายทอดสดกีฬา ในเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยผมว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่จะมีใครสังเกตและจับสัญญาณเรื่องการฟอกในลักษณะนี้ได้หรือไม่เท่านั้นเอง
ถึงแม้ฟุตบอลโลกปี 2022 จะจบลงแล้ว แต่บอลโลกครั้งนี้เปิดโลกทัศน์ของผมในเรื่องการโกงในวงการฟุตบอลอย่างสิ้นเชิง สมัยก่อนหากนึกถึงเรื่องการโกงในวงการฟุตบอล ก็คงนึกได้แค่เรื่องการติดสินบนกรรมการ การใช้สารกระตุ้น การล้มบอล การโกงพนัน ที่ไหนได้ มนุษย์เรานี้พอมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ผลประโยชน์ และการใช้ดุลยพินิจแล้ว การบริหารจัดการการแข่งขัน การบริหารจัดการสมาคมกีฬานั้นๆ การบริหารจัดการลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ฯลฯ ล้วนมีโอกาสโกงได้ทั้งสิ้น ยิ่งผมได้ชมสารคดีที่เป็นซีรี่ส์จาก NETFLIX ที่ชื่อว่า FIFA UNCOVERED ฟุตบอล เงินตรา อำนาจ ยิ่งทำให้ทราบที่มาที่ไปมากขึ้น จึงขอชวนทุกท่านว่าถึงบอลจบ คนไม่ควรจบ มาลองศึกษา จับตา และตั้งข้อสังเกตเรื่องโกงในวงการนี้ดู อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเสียงหนึ่งที่ได้โวยวายให้ผู้มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และไม่ปล่อยให้การโกงหรือความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะฟุตบอลโลกก็มีแข่งทุก 4 ปี ไหนจะมีฟุตบอลยูโรฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า
-------------
บทความลงมือสู้โกง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน บอลจบ คนไม่จบ โกงจะจบ?
Author
Suppaut Bosuwan
คุณพ่อฝึกหัดที่สนใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันและอยากเชื่อมโยงงานธรรมาภิบาลและภาคีทั่วประเทศให้มีกำลังและเครื่องมือพร้อมต่อต้านการทุจริต อีกบทบาทคือช่างซ่อมคอมพ์ให้คนในออฟฟิศ ขอเวลาสักนิดไปเดินฟอร์จูนอัปเดตเทคโนโลยี