บทเรียนจาก ตึก สตง.: จริยธรรมและความโปร่งใสแบบครึ่งๆ กลางๆ

02.04.2025

สรุปประเด็น

เหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568 ที่ส่งผลให้อาคาร สตง. ถล่ม ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิต ผู้เขียนเป็นวิศวกรโครงสร้างที่เคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานฯ และเป็นหนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์อิสระของโครงการนี้ แต่เข้ามาในช่วงกลางโครงการทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้น บทความเน้นความสำคัญของ "ข้อตกลงคุณธรรม" ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าตรวจสอบโครงการรัฐตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณไปแล้วกว่า 77,548 ล้านบาท แต่รัฐกลับลดความสำคัญของเครื่องมือนี้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงเรียกร้องให้นำข้อตกลงคุณธรรมกลับมาใช้อย่างจริงจังเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบร้อยปีของประเทศไทย ได้สร้างความเสียหายและความสูญเสียในหลายพื้นที่ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่สูญเสียและทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยครั้งนี้


ในฐานะวิศวกรโครงสร้าง เหตุการณ์ครั้งนี้กระทบใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเห็นภาพอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มลงมาระหว่างแผ่นดินไหว กลายเป็นกองซากคอนกรีตสูงหลายชั้น ทับชีวิตของผู้รับเหมา วิศวกร และคนงานจำนวนมาก เป็นภาพที่เจ็บปวดเกินจะบรรยาย และเป็นฝันร้ายที่สุดของวิศวกรอย่างผม


ทั้งๆ ที่อาคารหลายแห่งที่ผมได้ออกแบบไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อน ยังสามารถยืนหยัดผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้มาได้ แม้จะออกแบบ คำนวณ แล้วเขียนด้วยลายมือ ไม่ได้ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ทันสมัย หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างในปัจจุบัน


สิ่งที่ทำให้ตึกเหล่านั้นยังยืนหยัดอยู่ได้ อาจไม่ใช่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่คือจริยธรรม ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์ของวิศวกรที่ลงมือทำอย่างแท้จริง

หลายปีก่อน ผมได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุด คือ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งมีวาระเพียง 2 ปี ในช่วงเวลานั้น ผมพยายามผลักดันให้จรรยาบรรณวิชาชีพวิศวกรเป็นเรื่องที่ต้องเข้มงวด โดยเฉพาะหลักการพื้นฐานที่สุดคือ “ห้ามลงนามในงานที่ตนไม่ได้ควบคุมจริง”


ในวันนี้ที่ผมรับหน้าที่เป็น 1 ใน 4 ของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ซึ่งกำหนดให้มีบุคคลที่สามเข้าร่วมตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ แต่เราเข้ามาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ คือหลังจากที่มีแบบ มีร่างขอบเขตของงาน (TOR) และมีผู้รับเหมาแล้ว เราจึงดูได้เพียงว่า คณะกรรมการของ สตง. เข้มงวดเรื่องการอนุมัติ แก้ไข เปลี่ยนแปลง แบบ และสัญญาหรือไม่เท่านั้น ซึ่งมีการบันทึก การประชุมไว้ในระบบ Zoom แล้วทุกๆ การประชุม เป็นหลักฐานที่สามารถเรียกดูได้


ผมจึงรู้สึกเสียใจอย่างที่สุดที่ไม่สามารถใช้ความรู้ประสบการณ์ ป้องกันมิให้เกิดเหตุวิบัติร้ายแรงลักษณะนี้ได้

เหตุการณ์เป็นบทเรียนสำคัญที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นของเครื่องมือหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการป้องกันการทุจริตและยกระดับคุณภาพของโครงการรัฐ นั่นคือ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact)

ข้อตกลงคุณธรรม คือกลไกที่เปิดให้ประชาชนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ วิศวกรรม บัญชี หรือกฎหมาย โดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์สูง เข้าร่วมเป็น “ผู้สังเกตการณ์อิสระ” ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสูง และเสี่ยงต่อการทุจริต


ผู้สังเกตการณ์อิสระควรจะได้ร่วมตรวจสอบตั้งแต่การร่าง TOR ไปจนถึงการประชุมคัดเลือกผู้รับเหมา พร้อมสามารถทักท้วงได้ทันทีหากพบความผิดปกติ นอกจากนี้ หากการทักท้วงไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ควรจะสามารถรายงานต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เพื่อดำเนินการต่อได้อย่างเป็นระบบ


จากรายงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิอาสาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระจำนวน 252 คน ร่วมสังเกตการณ์ 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ประหยัดงบประมาณประเทศได้ถึง 77,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 ของงบประมาณรวม


ปัญหาคือ…ทำไมรัฐกลับลดความสำคัญของเครื่องมือนี้? แม้ข้อตกลงคุณธรรมจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา รัฐกลับลดงบประมาณและจำนวนโครงการที่เข้าร่วม เหลือไม่ถึง1 ใน 3 ของช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ปัญหาคอร์รัปชันยังเป็นมะเร็งร้ายกัดกินประเทศ

นี่จึงอธิบายว่า เมื่อไม่มีผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่ต้น จึงไม่สามารถทักท้วง TOR ที่อาจมีการล็อกสเปก หรือการเลือกผู้รับเหมาที่ไม่มีคุณภาพได้


สิ่งหนึ่งที่ประชาชนอย่างเราสามารถทำได้ในวันนี้คือ ร่วมกันส่งเสียงดังๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล นำข้อตกลงคุณธรรมกลับมาใช้อย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการในทุกโครงการขนาดใหญ่ ไม่ใช่มาแบบครึ่งๆ กลางๆ ควรขยายงบประมาณและจำนวนผู้สังเกตการณ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน รัฐ และผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ


เราต้องแสดงพลังให้ชัดว่า สังคมไทยต้องการความโปร่งใส และต้องการให้ข้อตกลงคุณธรรมทำหน้าที่ของมันต่อไป


------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน ตอน บทเรียนจาก ตึก สตง.: จริยธรรมและความโปร่งใสแบบครึ่งๆ กลางๆ

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน