วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

05.10.2022

สรุปประเด็น

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ?


นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

.

จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมของอาชญากรต่อการเพิ่มการลงโทษหรือเพิ่มการตรวจจับ : เมื่อมีการคอร์รัปชันในการบังคับใช้กฎหมาย” ที่วิจัยโดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ และ ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ งานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการนำคน 60 คนมาเล่นเกมจำลองการซื้อขายยาเสพติดโดยใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ผลปรากฏว่าการเพิ่มการตรวจจับหรือมีตำรวจแฝงเข้าไปในการซื้อขายสามารถลดอัตราการก่ออาชญากรรมได้มากกว่าการเพิ่มบทลงโทษแก่การก่ออาชญากรรม แต่ถ้าหากเราลองให้ผู้ตรวจสอบหรือตำรวจรับสินบนจะพบว่า การก่ออาชญากรรมก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

.

งานวิจัยชิ้นทำให้เห็นว่า การเพิ่มการตรวจจับเป็นแนวทางอันดับแรกที่มีผลต่อการลดและป้องกันการโกงหรืออาชญากรรม แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจับมีการทุจริตรับสินบน ก็จะทำให้อัตราการโกงหรือก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น และการลดและป้องกันอาชญากรรมก็จะล้มเหลวในที่สุด

.

ชวนอ่านคอลัมน์ แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน ตอน “วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย”

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมทางวิชาการ Cambridge International Symposium on Economic Crime ครั้งที่ 39 ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง พฤติกรรมของอาญากรต่อการเพิ่มการลงโทษหรือเพิ่มการตรวจจับ : เมื่อมีการคอร์รัปชันในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผมเขียนร่วมกับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาฯ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและการตอบรับดีมากจากนักวิชาการและนักต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลกจนผมได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำต่อกับผู้จัดงาน เพื่อพูดคุยรายละเอียดของงานวิจัยนี้ ในบทความนี้ผมจึงอยากนำผลสรุปจากงานวิจัยดังกล่าวมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

งานนี้เริ่มจากคำถามง่ายๆ เลยว่า อาชญากรหรือคนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน การเพิ่มบทลงโทษ หรือ การเพิ่มโอกาสการตรวจจับถ้าคิดเร็วๆ การเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงก็น่าจะทำให้คนขี้โกงทั้งหลายกลัวไม่กล้าโกงได้ ดูได้จากคำตอบแบบสอบถามทั่วไปที่ถามว่าคุณคิดว่าจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร คำตอบยอดฮิตอันดับแรกๆ ก็คือการเพิ่มบทลงโทษ จำคุกตลอดชีวิต หรือ ไม่ก็ประหารชีวิตไปเลยเสียด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดดีๆ ต่อให้เพิ่มบทลงโทษแรงแค่ไหน ถ้าตรวจจับไม่ได้ อาชญากรและคนโกงทั้งหลายก็รอดกันหมดอยู่ดี ดังนั้นเราก็ควรจะให้ความสำคัญกับการตรวจจับให้มากขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุให้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก่อตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบการทุจริตโดยตรงหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. แต่ก็ดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะการตรวจจับมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น กว่าจะรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งก็หายากมาก เพราะการคอร์รัปชันก็ทำกันอย่างลับๆ อยู่แล้ว กว่าจะหาความเชื่อมโยง สรุปสำนวนคดีออกมาได้ บางคดีใช้เวลาเป็นสิบปีเลยทีเดียว ก็เลยไม่แปลกใจที่หลายคนมีความเห็นว่า เราเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงมากๆ เลยเพื่อขู่ น่าจะง่ายและถูกกว่าเยอะ

เมื่อทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อด้อยในเชิงทฤษฎี ที่ดูจะหาบทสรุปทางเลือกที่ดีที่สุดไม่ได้เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองมาหาคำตอบ เพราะด้วยวิธีนี้เราจะได้ทดสอบให้เห็นกันไปชัดๆ ได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงปัจจัยอะไร ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการก่ออาชญากรรมหรือการคอร์รัปชันอย่างไร โดยผมได้สรุปกระบวนการทดลองอย่างย่อตามนี้ครับ

เราใช้การเล่นเกมตลาดค้ายาเสพติด (ปลอม เพราะถ้าจริงผู้วิจัยอาจติดคุกก่อน!) ที่ออกแบบโดย Professor Gwendolyn Tedeschi โดยแบ่งกลุ่มผู้ร่วมการทดลองเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ขายยาเสพติด และ ผู้ซื้อยาเสพติด ในรายละเอียดเราแบ่งผู้ร่วมทดลองทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มย่อยๆ ลงไปอีก เช่น ในกลุ่มติดยาก็จะแบ่งเป็น กลุ่มติดยา ที่ยินดีจะจ่ายค่ายาเสพติดแพงกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีความต้องการสูงมาก กลุ่มทั่วไป และกลุ่มคนลังเล ซึ่งจะมีราคาที่ยอมจ่ายลดหลั่นกันลงมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ขาย ที่แบ่งเป็นกลุ่มขายราคาแพง และราคาถูก จากนั้นเราแจกเงิน (ปลอม แต่ตอนจบสามารถไปแลกเป็นเงินจริงได้ เพื่อให้การตัดสินใจเหมือนจริงมากที่สุด) ให้ผู้ซื้อ ไปเจรจากับผู้ขายอย่างเสรีเลย

ผลการเล่นเกมนี้ออกมาตามคาดการณ์ คือ ก็มีความพยายามเจรจากันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเป็นคู่บ้าง เป็นกลุ่มเล็กบ้าง กลุ่มใหญ่บ้าง คนที่ยอมจ่ายมากก็ได้ยาเสพติดไปก่อน ไล่ลงมาเรื่อยๆ ถึงกลุ่มกลางๆ ก็ยังพอได้บ้าง จนถึงจุดที่ตกลงกันไม่ได้แล้วผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายแพงขนาดนั้นและผู้ขายไม่ยอมลดราคาลงมามากกว่านี้อีกแล้ว ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดเกมแรก เราเล่นเกมนี้กับผู้เข้าร่วมหลายกลุ่มเพื่อให้ได้ผลที่เชื่อถือได้ทางสถิติ เราพบว่าจากผู้ซื้อผู้ขายกลุ่มละ 30 คน (รวมมีคนเล่นเกมละ 60 คน) สามารถจับกลุ่มซื้อขายกันได้เฉลี่ย 17.65 ครั้งต่อเกม และมีราคาสินค้าเฉลี่ยชิ้นละ 32.03 หน่วย (สมมุติเป็นบาทก็ได้ครับ)

ทีนี้เราลองเล่นอีกที โดยคราวนี้บอกทุกคนว่า ต่อไปจะมีตำรวจแล้วนะ แล้วเราก็สุ่ม ให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ปลอมตัวเป็นตำรวจจำนวน 8 คน ถ้าใครโชคไม่ดี ไปตกลงซื้อขายยาเสพติดกับตำรวจปลอมตัวมา ก็จะถูกจับและปรับเงิน (ปลอม) ที่ได้รับมาตอนแรกผลก็เป็นไปตามที่คาดครับ จำนวนครั้งที่มีการเจรจาตกลงซื้อขายกันได้จริงลดลงเหลือเพียง 4.26 ครั้ง และราคาสินค้าก็เพิ่มไปเป็น 36.91 หน่วยเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่า การมีตำรวจในสังคม ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมได้จริง

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญคือ เพิ่มการตรวจจับ (จำนวนตำรวจ) หรือ บทลงโทษ (ค่าปรับ) แบบไหนส่งผลให้คนตกลงซื้อขายยาเสพติด (ก่ออาชญากรรม) น้อยลงมากกว่ากัน เราก็ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มจำนวนตำรวจเข้าไปทีละ 2 คน ตั้งแต่ 2, 4, 6, และ 8 ตามลำดับ โดยคงค่าปรับให้เท่าเดิม ในขณะที่อีกห้องหนึ่งเราเล่นเกมอีกแบบโดยเพิ่มค่าปรับในสัดส่วนเดียวกันการเพิ่มตำรวจคือ 25%, 50%, 75%, และ 100% ของราคาที่ตกลงซื้อขายตามลำดับ เราเล่นกันอยู่หลายครั้งเช่นกันจนได้ผลที่มากพอตามหลักสถิติ และผลที่ได้ออกมานี้ก็น่าสนใจมากๆ ครับ

ในกรณีที่เราเพิ่มจำนวนตำรวจ (การตรวจจับ) ปรากฏว่าการเพิ่มตำรวจเข้าไปแม้จะน้อยที่สุดคือแค่ 2 คน สามารถลดการเจรจาค้ายาเสพติด (ก่ออาชญากรรม) ได้อย่างมากในทันที คือลดจาก 17.65 ครั้ง เหลือเพียง 5.75 ครั้งเลยทีเดียว หลังจากนั้นการเพิ่มจำนวนตำรวจเป็น 4, 6, และ 8 คน ก็ยังช่วยลดอาชญากรรมได้อีกนิดหน่อย แต่ไม่มากเท่าครั้งแรก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่เราใช้วิธีเพิ่มค่าปรับ ส่งผลให้จำนวนการซื้อขายลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยๆ เท่าๆ กันตั้งแต่ค่าปรับ 25% 50% 75% และ 100% ไม่มีผลลดฮวบฮาบเหมือนตอนเพิ่มตำรวจ ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มโอกาสการตรวจจับมีผลกระทบต่อการลดอาชญากรรมอย่างมากตั้งแต่แรก ดังนั้นสรุปได้ว่า ถ้าเราต้องเลือกระหว่างการเพิ่มโอกาสการตรวจจับ กับ การเพิ่มค่าปรับ ให้เลือกเพิ่มโอกาสการตรวจจับก่อน

ทีนี้ เราไม่อยากจบแค่นี้ เพราะมันยังไม่ตอบสถานการณ์ในความเป็นจริงของโลก ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็อาจไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทั้งหมด ถึงจับได้คาหนังคาเขา ก็อาจจะเรียกรับผลประโยชน์แล้วก็ปล่อยไปก็ได้ (คุ้นๆ กันไหมครับ) เราเลยทดลองเพิ่มอีก โดยครั้งนี้กำหนดให้มีตำรวจดีและตำรวจโกงด้วย ลองดูว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมของอาชญากรไหม

วิธีการทดสอบก็ง่ายๆ ครับ ในกลุ่มแรก เราเริ่มจากการสุ่มให้มีตำรวจ 8 คนเหมือนเดิม แต่ทีนี้เราแอบกระซิบตำรวจบางคนว่า ให้เป็นตำรวจโกงนะ ถ้าจับคนซื้อขายยาเสพติดได้ก็ให้ปล่อยไป (เหมือนว่าได้รับสินบนแล้วปล่อย) แล้วเราก็ค่อยๆ เพิ่มตำรวจโกงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2, 4, 6 และ 8 คนตามลำดับ (8 คนคือโกงหมดเลย!) ผลปรากฏว่า จำนวนการซื้อขายยาเสพติด เพิ่มขึ้นอย่างสูงสุดตั้งแต่กระซิบให้มีตำรวจโกงน้อยที่สุดเลยแค่ 2 คน จากการตกลงซื้อขายยาเสพติดกันเฉลี่ย 4.26 ครั้งพุ่งไปเป็น 13.9 ครั้งเลย จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทีละนิดตามจำนวนตำรวจโกงที่เพิ่มขึ้น จนกลับไปที่เดิมที่ 17.65 ครั้งเมื่อตำรวจทั้ง 8 คนโกงหมด (จำนวนครั้งเท่ากับตอนที่ไม่มีตำรวจเลย)

ผลการทดลองนี้หมายความว่า การมีตำรวจโกง หรือ การที่สังคมรับรู้ว่ามีตำรวจโกง จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมลดลงอย่างรวดเร็วทันทีและมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการการคิดว่าเราน่าจะโชคดี (lucky bias) ซึ่งหมายความว่า มนุษย์มักให้น้ำหนักกับโอกาสความโชคดีมากกว่าความเป็นจริง เช่น คิดว่าโกงไปเถอะ ถ้าถูกจับได้ก็อาจจะเจอตำรวจโกง สามารถจ่ายสินบนและรอดตัวได้อยู่ดี (คุ้นๆ อีกไหมครับ) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าคนในสังคมคิดว่าผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้ตรวจจับสามารถโกงได้ การบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบจะพังทลายลงได้เลย

ดังนั้นจากบทเรียนทั้ง 2 ข้อหลักของงานวิจัยนี้ คือ หนึ่ง ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด ถ้าเราต้องเลือกระหว่างการเพิ่มโอกาสการตรวจจับ กับ การเพิ่มค่าปรับ ให้เลือกเพิ่มโอกาสการตรวจจับก่อน และ สอง ถ้าคนในสังคมคิดว่าผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้ตรวจจับสามารถโกงได้ การบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบจะพังทลายลงได้ง่ายๆ เลย จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่า ถ้าเราอยากลดอาชญากรรมในสังคม เราต้องให้ความสำคัญกับผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างมากและเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งหมายถึงทั้งตำรวจและหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหลาย เพราะถ้าป้องกันการโกงในกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ก่อน ระบบก็จะพังทลาย และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและคอร์รัปชันในส่วนอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

ก่อนผมจะลงจากเวที ผมได้นำเสนอตัวอย่างว่าจะป้องกันการโกงในกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร ผมเสนอว่า การเปิดข้อมูลสาธารณะให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกชั้นหนึ่งเป็นทางออกที่ง่ายและถูกที่สุด เช่น การติดกล้องที่ตัวตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือ ACT Ai ที่รวบรวมข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของรัฐทั้งหมดไว้ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติได้โดยง่ายและสะดวกที่สุด สิ่งนี้จะทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งหลายต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมอย่างมีประสิทธิผลด้วย

ตอนผมเดินลงมาจากเวที มีอดีตผู้บัญชาการตำรวจลอนดอนมาคุยด้วยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ เขาบอกผมว่า ถ้ามีโอกาสเขายินดีมาให้คำปรึกษากับการพัฒนาระบบการตรวจจับอาชญากรรมของประเทศไทยเลย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริง น่าจะเป็นประโยชน์กับเรามาก นอกจากนี้ก็ยังมีนักวิชาการและนักต้านคอร์รัปชันจากหน่วยงานต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างสนุกสนาน อยู่กันตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยงคืน เรียกว่าเป็นวันที่เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกและได้รับความรู้มากเลยทีเดียวครับ


ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค

-------------------------

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน ตอน วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน