สรุปประเด็นเสวนาต้านโกงนานาชาติ

05.07.2023

สรุปประเด็น

รวมแนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจาก “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  

  • การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในประเทศไทยมาโดยตลอด แต่จะมีสักที่ครั้งที่ปัญหานี้ถูกนำมาวางบนเวทีให้ผู้คนจากหลายประเทศเข้ามาร่วมออกความเห็นแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ เกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพ เหมือนที่เกิดขึ้นในงาน “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่ KRAC Corruption ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
  • งานครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการต่อต้านคอร์รัปชันมากมาย จากนานาประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และรวมถึงไทย ที่มาพูดใน 3 หัวข้อการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ การเปิดเผยข้อมูล การบริหารงบประมาณ และกระบวนการนิติบัญญัติ 
  • ซึ่งในการพูดคุยครั้งนี้ มีแนวคิดการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่น่าสนใจ แพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ ที่ช่วยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม กรณีศึกษาจากการลงมือทำจริง รวมถึงความท้าทายและประสบการณ์การต่อต้านคอร์รัปชันจากเหล่าวิทยากรในงาน โดยสามารถติดตามอ่านเนื้อหารายละเอียดของงานได้ใน บทความแนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน ตอน “สรุปประเด็นเสวนาต้านโกงนานาชาติ”

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมาศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค หรือ KRAC ได้จัด “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งงานครั้งนี้มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงการต่อต้านคอร์รัปชันจากนานาประเทศ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ เครื่องมือและวิธีการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ใน 3 ประเด็นหลักที่กำลังได้รับความสนใจในวงการต่อต้านคอร์รัปชันโลก ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบการจัดการงบประมาณ และกระบวนการนิติบัญญัติ


หัวข้อที่ 1 เรื่อง “การใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม” (Using Open Data to Improve Governance and Integrity) ดำเนินการสนทนาโดย Cynthia Gabriel ผู้ก่อตั้ง The Center to Combat Corruption and Cronyism


เริ่มที่ รองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้รับผิดชอบโครงการ Open Bangkok ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ทำงานภายใต้ 5 หลักการ คือ 1. การให้ความสำคัญกับโครงการใหญ่ และโครงการเส้นเลือดฝอย 2.การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง 3.การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน 4.การให้บริการสาธารณะ ความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ 5.ความร่วมมือกับประชาชน โดยโครงการ Open Bangkok ทั้ง 5 มิติคือ

  1. Open Data (ข้อมูลเปิด): ปรับข้อมูลหน่วยงาน กทม.ให้เป็นรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (Machine-readable) ตัวอย่าง data.bangkok.go.th
  2. Open Service (เปิดการให้บริการ) : ให้ความสำคัญกับการรับฟังประชาชน รับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy fondue ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมารับเรื่องมาแล้ว 3 แสนเรื่อง แก้ไขไปแล้ว 2.2 แสนเรื่อง
  3. Open Contract (เปิดสัญญา) : ทำงานร่วมองค์กรเครือข่าย เช่น Construction Sector Transparency Initiative (CoST) และ Open Contracting Partnership (OCP) เพื่อเปิดข้อมูลสัญญาของ กทม. บนเว็บไซต์ egp.bangkok.go.th
  4. Open Policy (เปิดนโยบาย): สร้างเว็บไซต์ให้ประชาชนติดตามนโยบายที่เสร็จสิ้นแล้วตามที่หาเสียงไว้ใน openpolicy.bangkok.go.th
  5. Open Innovation (เปิดนวัตกรรม) : สร้างแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น เว็บไซต์จองพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทำกิจกรรม เว็บไซต์เปิดให้ประชาชนหางาน


ต่อมา Wana Alamsyah จาก Indonesia Corruption Watch and Opentender.net สรุปว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย โดยนำเสนอ Opentender.net ที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศอินโดนีเซียที่ช่วยรวบรวมและเรียบเรียง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลสัญญา ข้อมูลการแข่งขันของภาครัฐได้ง่าย เพิ่มการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาคประชาชน

ตัวอย่างความสำเร็จของ Opentender.net คือโครงการ Monitoring Marathon ที่ชวนให้ประชาชนจัดทีมเข้ามาแข่งขันในการตรวจสอบโครงการรัฐ


ถัดมา Khairil Yusof ผู้แทน Sinar Project ประเทศมาเลเซีย เล่าต่อว่า ข้อมูลเป็นสิ่งได้มายาก โดย 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคะแนนเฉลี่ยการเปิดข้อมูลอยู่เพียงแค่ 25/100 คะแนน ดังนั้น การจะได้มาซึ่งข้อมูลหลายภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทำในส่วนที่ทำได้ แบ่งปันข้อมูลกัน ก็จะได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน

การเปิดข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะต้องทำให้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน (Open Data Standard) เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้โดยยกตัวอย่างโครงการ CoST ที่การให้ข้อมูลพื้นฐานของโครงการ เช่น งบประมาณ ที่ตั้ง วัตถุประสงค์โครงการ


หัวข้อที่ 2 เรื่อง “โครงการริเริ่มสนับสนุนการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ” (Initiatives to Promote Transparent and Accountable Financial Management) ดำเนินการสนทนาโดย Alvin Nicola จาก Transparency International Indonesia.


เริ่มโดย คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เล่าภาพรวมโครงการ Integrity Pact (IP) ที่มีผู้สังเกตการณ์อิสระซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ โดยได้สร้างความสำเร็จไปให้เห็นแล้วบ้าง เช่น ทำให้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างค่านิยมเรื่องความโปร่งใสให้กับสังคม และที่สำคัญ สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้แล้วจริงหลายหมื่นล้านบาท


ลำดับถัดมา คุณธนิสรา เรืองเดช CEO & Co-founder ของ Punch Up และ WeVis เล่าถึงบทบาทของ Punch Up ที่ได้นำข้อมูลภาครัฐที่ยุ่งยากมาทำให้เห็นภาพชัดเจน (Visualization) เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ง่ายขึ้น ในตอนท้ายได้กล่าวถึงบทเรียนจากความท้าทายที่ได้เจอหลังจากการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา 3 ประการได้แก่

  1. เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ต้องเปิดพื้นที่ประชาชนและรัฐคุยกันได้มากขึ้น
  2. เครื่องมืออาจไม่ต้องยิ่งใหญ่ สามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ และขยายไปเรื่อยได้
  3. ระบบที่ยั่งยืนคือการนำระบบให้ไปอยู่ในนโยบายราชการ ไม่อย่างนั้น พอเปลี่ยนผู้บริหาร ระบบนั้นก็จะเปลี่ยนไป


ผู้บรรยายคนสุดท้ายของวงนี้คือ Shreya Basu จาก Open Government Partnership (OGP) ซึ่งได้อธิบายการทำงานขององค์กร OGP ที่มุ่งสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการของรัฐ เพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ สามารถเข้าไปมีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลเปิดเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมในอินโดนีเซีย นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาต่างๆ เช่น เพิ่มรายได้ของรัฐบาล สร้างขวัญกำลังใจในการเสียภาษี ลดการคอร์รัปชัน นอกจากนี้ Shreya ยังได้สรุปบทเรียนจากการทำงานของ OGP ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ การขาดความตระหนักรู้ของประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ความยากของการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐที่มักใช้เวลามาก และความท้าทายในการเปลี่ยนโครงการนำร่องให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน


หัวข้อสุดท้าย เรื่อง “การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในการกระบวนการนิติบัญญัติ” (Assessing and Addressing Corruption Risk Factors in Legislation) ดำเนินการ สนทนาโดย ศาสตราจารย์ Matthew Stephenson จาก Harvard Law School


เริ่มที่ Jungoh Son ผู้แทนจาก Anti-Corruption and Civil right Commission (ACRC) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้นำแนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในการออกกฎหมายใหม่ๆ มาใช้แล้วประสบความสำเร็จ โดยเขาเล่าว่า กฎหมายหลายๆ ฉบับ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องใดก็ตาม หากมีความคลุมเครือ มีข้อกำหนดไม่ชัดเจน ไม่มีความเป็นรูปธรรม ไม่โปร่งใส และขาดการกำหนดกลไกความรับผิดชอบให้ชัดเจนแล้ว โอกาสจะเปิดให้เกิดการคอร์รัปชันนั้น จะสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้ จึงนำกระบวนการประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในการออกกฎหมายมาใช้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีช่องว่างในการคอร์รัปชันตั้งแต่เริ่มต้นเลย

นอกจากนี้ ACRC ของเกาหลีใต้ ยังใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การมี Code of Conduct ในการทำงานของข้าราชการ, การเปิดเผยทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างครอบคลุม และมีช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัย (Whistleblowing)เป็นต้น


ต่อมา Lidya Suryani Widayati หัวหน้าฝ่ายร่างกฎหมายของรัฐสภาอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งนำกระบวนการประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในการร่างกฎหมายไปใช้เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อธิบายถึงกระบวนการร่างกฎหมายของอินโดนีเซีย และเสนอแนะว่าการร่างกฎหมายไม่ดีจะเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชันได้ ดังนั้นในการร่างกฎหมาย ต้องระบุว่ากฎหมายนั้นใช้กับอะไรบ้าง บอกประเภทและระเบียบ และมาตราของกฎหมาย กำหนดวันเวลาที่จะเสร็จสิ้นที่ชัดเจน กำหนดโทษทำและ พฤติกรรมที่เข้าค่ายการทำความผิด


สุดท้าย รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ รองประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล และอดีตที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. ได้ยกตัวอย่างปัญหาจริงของกฎหมายบางฉบับในประเทศไทย ที่ไม่มีการประเมินความเสี่ยงของการคอร์รัปชัน นำไปสู่ปัญหามากมาย นั่นคือกฎหมายควบคุมดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่นอกจากจะมีความคลุมเครือ มีข้อกำหนดไม่ชัดเจน ไม่มีความเป็นรูปธรรม ไม่โปร่งใส และขาดการกำหนดกลไกความรับผิดชอบให้ชัดเจนแล้ว ยังกำหนดผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย ทำให้เกิดกรณีทุจริตต่างๆ มากมาย เช่น กรณีสหกรณ์คลองจั่น ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในการร่างกฎหมายทุกฉบับ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการป้องกันการคอร์รัปชันตั้งแต่แรก


สำหรับผู้สนใจชม “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (International Conference on Anti – Corruption Innovations in Southeast Asia) สามารถรับชมเทปบันทึกภาพทั้งงานได้ที่ https://bit.ly/3CH2zzV


ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค

-------------------------

ต่อต้านคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน สรุปประเด็นเสวนาต้านโกงนานาชาติ

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน