ไม่มีใครอยากถูกทำลายความฝัน ‘ด้วยการโกง’ ใช่มั้ย?
28.05.2023
สรุปประเด็น
ไม่ว่าใครก็ตามมักมีความฝันในชีวิต ถึงแม้ว่าบางทีความฝันมันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันเราได้ในบางครั้ง แต่การที่เราจะไปถึงความฝันได้นั้นล้วนมีอุปสรรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน
บางคนขาดปัจจัยพื้นฐาน บางคนขาดความมั่นใจ และอะไรอีกหลายๆ อย่าง การที่อยู่ดีๆ วันหนึ่งเราถูกทำลายความฝัน คงทำให้ใครหลายคนอาจจะต้องใจสลายได้
การแข่งขันต้องมีคนที่แพ้ และคนที่ชนะเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ใครคนหนึ่งถูกทำลายความฝันด้วยการโกง มันคงเป็นเรื่องที่แย่มากๆ และเราเองก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เพราะการแข่งขันควรวัดกันที่ความสามารถ ไม่ใช่วัดกันที่จำนวนเงิน
มาดูการโกงที่เป็นประวัติศาสตร์ของรายการ idol survival ทางฝั่งเกาหลีกันดีกว่า ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นที่วง X1 ผู้เข้าแข่งขันจากรายการ Product X101 ของฝั่งเกาหลี ที่ได้เดบิวต์เมื่อปี 2019 แต่ได้ทำกิจกรรมเพียง 5 เดือนเท่านั้นก็ต้องยุบวง เนื่องจากมีการแฉรายการว่า มีการโกงผลคะแนนของผู้เข้าแข่งขัน ทำให้คนทั่วไปไม่พอใจเป็นอย่างมาก ทางฝั่งตัวผู้เข้าแข่งขันเองก็ไม่ทราบมาก่อน เพราะทางค่ายกับรายการเป็นคนทำเรื่องนี้ด้วยกัน สาเหตุที่ทำให้มีการออกมาแฉ เพราะว่าแฟนรายการหลายคนสงสัยว่า ทำไมคะแนนของผู้เข้าแข่งขันมีคะแนนที่ห่างเท่าๆ กัน อันดับ 1 กับอันดับ 2 ห่างกัน 29,978 คะแนน อันดับ 2 กับ 3 ห่างกัน 29,978 คะแนน ไปจนถึงอันดับสุดท้าย คืออันดับที่ 11 ทำให้แฟนคลับมีการยื่นเรื่องนี้ไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตรวจสอบ แล้วผลก็ออกมาตามที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามีการโกงคะแนน แต่ยิ่งไปกว่านั้น season นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รายการมีการโกงคะแนน แต่มีการทำแบบนี้ในการแข่งขันก่อนหน้านั้นถึง 3 ครั้ง
ที่เกาหลีไม่ได้มีการปล่อยให้คนโกงลอยนวล ศาลฎีกาได้มีคำสั่งตัดสินจำคุกอันจุนยอง (PD ผู้ผลิตรายการ) เป็นเวลา 2 ปี รวมถึงปรับเป็นจำนวนเงิน 37 ล้านวอน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 ล้านบาท) และจำคุกคิมยองบอม (CP) (Chife Producer) เป็นเวลา 1.8 ปี และตัวแทนจาก 5 ค่าย ลงโทษจำคุก 8 เดือน รอลงอาญา 2 ปี (ข้อมูลจาก : Dek-D.com) แต่ถึงมีการลงโทษผู้ผลิตรายการและตัวแทนค่าย คนที่น่าจะรู้สึกเสียใจไม่น้อยไปกว่าใครก็คือผู้เข้าแข่งขันที่ถูกโกงคะแนน เค้าคงจะเสียใจมากที่พยายามเต็มที่ แต่กลับแพ้ด้วยเหตุผลที่เกิดจากการโกงผลคะแนน
นอกจากการโกงผลคะแนนแล้ว ยังมีการโกงชาร์ตเพลงที่ถูกพูดถึงมากในวงการเกาหลีอีกด้วย โดย 4 มกราคม รายการ Unanswered Questions ทางช่อง SBS ได้มีการนำเสนอเรื่องการโกงชาร์ตเพลง และมีศิลปินที่อยู่ในวงการออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการได้รับข้อเสนอในการโกงชาร์ตเพลงอีกด้วย MALVO เป็นศิลปินอีกคนที่ได้รับข้อเสนอว่า “มีคนมาถามผมว่าพอใจแล้วหรือยังกับผลของการโปรโมตอัลบั้มที่ผ่านมา แล้วก็บอกว่าพวกเขาสามารถเพิ่มอันดับบนชาร์ตเพลงให้ได้ และสามารถทำให้เพลงเป็นที่นิยมยิ่งขึ้นทำให้คนร้องเพลงนี้กันได้ทั่ว” (ข้อมูลจาก : HAKKYU K) แต่ MALVO ก็ไม่ได้สนใจอะไร และยังมีอีก Sultan of the Disco ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเราปล่อยอัลบั้มออกมาเมื่อช่วงซัมเมอร์ซึ่งในตอนนั้นเราก็ได้รับข้อเสนอมาว่าพวกเค้าสามารถทำให้เพลงของเราไวรัลได้ และสามารถทำให้เพลงของพวกเราขึ้นไปอยู่ในชาร์ตระดับ TOP30 ได้” (ข้อมูลจาก : HAKKYU K) ยิ่งทำให้เราเห็นว่ามีกระบวนการนี้เกิดขึ้นจริงแต่ก็ยังไม่มีบทสรุปว่ามีการโกงชาร์ตอย่างจริงจัง แต่ทางสถานีโทรทัศน์ก็มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ให้ได้ดู
เมื่อผลการแข่งขันค้านสายตาสังคมจึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก การแข่งขันสร้างสรรค์ศิลปกรรมบนกำแพง The Arts Landmark in Thailand ภาคกลาง โครงการแต้มสีเติมฝันต่อต้านการทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2565 มีผลการประกวดที่ค้านสายตาคนใน social เป็นอย่างมากทำให้มีการถกเถียงกันไปมาค่อนข้างดุเดือด แต่จริงความจริงแล้วเราก็ไม่รู้ว่ากรรมการมีเกณฑ์การตัดสินอย่างไร แต่สังคมแค่ไม่เห็นด้วยกับผลการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ยังไม่หมดแค่นี้ในวงการศิลปะ เมื่อมีคนใช้ภาพ AI มาส่งเข้าประกวดในการแข่งขันแล้วได้รางวัล ผลงานของเขาชื่อว่า “Théatre D’opéra Spatial” ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่าโรงละครโอเปร่าอวกาศ ทำให้เขาถูกนักวาดดิจิทัลที่ใช้เครื่องมือในการวาดเองบอกว่าเป็นการโกง แต่เขาก็ออกมาตอบโต้ว่า ผลงานของเขาได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าใช้มิดเจอนี่ในชื่อผลงานว่าเจสัน เอ็ม. อัลเลน โดย มิดเจอนี่ (Jason M. Allen via Midjourney)
“ผมจะไม่ขอโทษสำหรับเรื่องนี้ ผมชนะ และไม่ได้ทำผิดกฎใดๆ”
แต่ต่างคนต่างความคิด ในยุคที่ AI กำลังเติบโตทำให้เราไม่รู้ว่ามันจะไปหยุดที่จุดไหนการที่ให้ AI มาเป็นตัวช่วยในการทำงานก็คงช่วยลดระยะเวลาในการทำงานขึ้นได้บ้าง แต่ AI มันก็ยังต้องการให้มนุษย์ป้อนข้อมูลอยู่ แล้วข้อมูลที่มนุษย์ป้อนเข้าไปก็เป็นผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทั้งนั้น “สิ่งที่ทำให้เอไอแตกต่างคือการที่มันต้องฝึกฝนจากงานศิลปะของศิลปินในปัจจุบัน” - อาร์เจ ปาล์มเมอร์ (RJ Palmer) ศิลปินดิจิทัลท่านหนึ่งกล่าว
อีกกรณีนึง คุณบอม-ธนิน ดารานักแสดง ได้โพสต์ทวิตเตอร์ออกมาแฉวงการเทนนิสพร้อมติด #สมาคมเทนนิส บนทวิตเตอร์
“เห็นคนพูดถึงสมาคมเทนนิสกัน ผมเล่นและแข่งเทนนิสมาตั้งแต่ 10 ขวบ …. คันปากจังเลย อยากพูดความจริง
บอกเลยว่าเรื่องแซ่บกว่าที่คุณคิดและโยงไปถึงทำไมเทนนิสไทยย่ำอยู่กับที่ #สมาคมเทนนิส”
“ถ้าคนที่มีฝีมือดีที่สุดได้โอกาสไปแข่งที่ต่างประเทศก่อนเด็กเส้น วงการเทนนิสไทยไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน(เป็นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเป็นด้วย) มีหลายคนเลิกเล่นเพราะทางสมาคมไม่ให้ทุนไปแข่งที่ต่างประเทศทั้งๆ ที่ชนะการแข่งขัน แต่กลับไปให้เด็กที่ขึ้นตรงกับทางสมาคม #สมาคมเทนนิส เบาๆ ไปก่อนนะ”
ซึ่งนักกีฬาเทนนิสที่ได้ไปแข่งระดับประเทศ คือเด็กอายุ 16 ปี ที่เคยมีการขับรถผ่าไฟแดงชนคนเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 บนถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยดัง จังหวัดนครราชสีมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตมีการเรียกร้องค่าเสียหายไป 15 ล้านบาท แต่คู่กรณีไม่มีเงินพอที่จะจ่ายจึงไปขึ้นศาลแทน แต่เวลาผ่านไปก็มีภาพออกมาว่าเด็กคนนั้นได้ไปแข่งกีฬาเทนนิสระดับประเทศ ทำให้คนในสังคมสงสัยว่าทำไมคนที่ขับรถชนคนเสียชีวิต ถึงยังได้รับโอกาสให้ไปแข่งกีฬาระดับประเทศ
จากข่าวในวงการบันเทิง วงการศิลปะ หรือข่าวเกี่ยวกับเด็กเส้นที่ออกมาให้เราได้เห็นกันในแต่ละวัน คนที่สามารถช่วยทำให้เรื่องนี้ถูกเปิดโปงได้ก็คงเป็นประชาชนที่เห็นความผิดปกติของอะไรบางอย่างเหมือนในการแข่งขันของเกาหลีที่แฟนรายการเห็นความผิดปกติของคะแนนเลยมีการไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้มาตรวจสอบ หรือกรณีของการใช้ AI ในการส่งภาพเข้าประกวดพอมีคนรู้ก็มีการออกมาแถลงความข้องใจหรืออย่างกรณีสุดท้ายที่ออกมาแฉสมาคมเทนนิส พอมีคนในออกมาพูดก็ยิ่งทำให้คนในสังคมรับรู้ว่าเรื่องมันเป็นมาอย่างไร
---------------------
ลงมือสู้โกง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ไม่มีใครอยากถูกทำลายความฝัน ‘ด้วยการโกง’ ใช่มั้ย?
Author
Panuwath srisamon
Graphic Designer ที่อยากให้ผลงานเป็นอีกส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น คิดว่าทุกคนสามารถสื่อสารได้ในรูปแบบของตนเอง มาพร้อมกับความฝันเป็นนักวาดตัวจิ๋วผู้โด่งดัง