Behind the Scene : คนกองกับ สวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่หล่นหาย

30.05.2023

สรุปประเด็น

การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มต้นด้วยการมีกฎหมายให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนายทุน คนทำงาน และภาครัฐ ตามหลักนิติธรรมและหลักการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมาภิบาล

การใช้ชีวิตด้วยเงินเดือน 15,000 บาทในเมืองกรุงเทพฯ ไม่ง่ายฉันใด ชีวิตของแรงงานในกองถ่ายหรือ “คนกอง” ก็ไม่ง่ายฉันนั้น


คู่เทียบนี้มีทั้งสิ่งที่คล้ายและสิ่งที่ต่างหากแต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือความลำบากในฐานะแรงงาน สิ่งที่แรงงานในกองถ่ายหรือ “คนกอง” ต้องพบเจอช่างสวนทางกับผลงานและฝีมือของพวกเขา หลายคนเลือกที่จะดูหนัง ละคร หรือซีรีส์เพื่อหลีกหนีความโหดร้ายจากโลกความจริงและหันหน้าเข้าหาสิ่งจรรโลงใจ แต่ในทางกลับกันกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสื่อเหล่านั้นกลับเป็นโลกความจริงอันโหดร้ายของคนกอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? และจะมีทางใดหรือไม่ที่จะทำให้โลกความจริงไม่โหดร้ายสำหรับคนกอง 


ประการแรกคือจำนวนชั่วโมงในการทำงาน ตัวเลข 16:8 อาจทำให้คุณนึกถึงการทำ Intermittent Fasting (IF) หรือการอดอาหารเป็นช่วง ๆ แต่สำหรับบทความนี้มันคือสัดส่วนชั่วโมงการทำงาน และพักผ่อนของคนกองซึ่งแน่นอนว่า 16 นั้นไม่ใช่เวลาพัก แต่เป็นชั่วโมงการทำงานปกติ (ที่ผิดปกติเอามาก ๆ ) สำหรับคนกองแทบทุกคน ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือการทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากถึงขนาดนี้สามารถกินเวลายาวนานนับสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือนขึ้นอยู่กับประเภทของกองถ่าย 


การออกกองหนึ่งครั้งไม่ต่างจากการออกเดินทางในวันหยุดยาวกับครอบครัวใหญ่ หากการเดินทางท่องเที่ยวของคุณมีเรื่องยุ่งยากและวุ่นวายมากเท่าไหร่ การออกกองเองก็ไม่ต่างกัน เพียงแค่ปลายทางของคนกองคือต้องได้งานและไม่ได้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ เวลาพักระหว่างวันถูกรวมไปกับเวลางาน การทานข้าวพร้อมกับทำงานกลายเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานของคนกอง ส่วนเรื่องค่าล่วงเวลานั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ได้มีการกำหนดจ่ายอย่างชัดเจนอยู่เลย หรือพูดง่าย ๆ คือ ไม่มีค่าโอที (OT) 


เมื่อต้องทำงานโดยใช้ทั้งแรงกายแรงใจในเวลายาวนานติดต่อกันและไม่มีเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน 


ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงานที่เสียไป จากผลสำรวจชั่วโมงการทำงานแรงงานในกองถ่าย 239 ราย ในปี 2565 จัดทำโดยสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) ได้ให้ผู้ที่ทำงานในกองถ่ายตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลในการทำงานของพวกเขาซึ่งหนึ่งในชุดคำถามนั้นมีเรื่องของจำนวนชั่วโมงการทำงานและข้อมูลด้านสุขภาพอยู่ด้วย ผลการสำรวจพบว่า มีคนกองกว่า 91.6% ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าในระหว่างเวลาทำงาน 85.45% เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ตอบสนองต่อการทำงานได้ช้าลง ไม่มีสมาธิ 69.5% จำเป็นต้องใช้ยาสารกระตุ้น เครื่องดื่มชูกำลังเพื่อทนต่อการอดนอน และ 65% ประสบปัญหาด้านสุขภาพ เจ็บป่วย มีโรคประจำตัว 


ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้นที่ส่งสัญญาณประท้วงการทำงานหามรุ่งหามค่ำแต่สุขภาพจิตก็ด้วย จากการพูดคุยกับคนกองรอบ ๆ ตัวแล้วก็ต้องพบกับเรื่องน่าสลดที่ว่า มีคนกองไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะเครียดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า จากการทำงานหนักของคนกอง และทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็ส่งผลมายังประสิทธิภาพการทำงานที่ลดน้อยถอยลงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแรงงานทุกคนคือมนุษย์เราต่างก็เหนื่อยและล้าเป็นหากต้องทำงานราวกับแข่งมาราธอนเช่นนี้ 


ประการที่สองคือเรื่องของความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน สิ่งที่ถ่ายทอดผ่านจอออกไปคือภาพสวยงามอลังการของโพรดักชันส์การถ่ายทำ แต่เบื้องหลังนั้นคือสภาพการทำงานที่หลาย ๆ ครั้งก็พาคนกองไปเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นสายไฟของอุปกรณ์มากมายบนพื้นที่ไร้ซึ่งการปกปิดหรือคลุมให้มิดชิด การทำอุปกรณ์บางชิ้นขึ้นมาใช้เองเนื่องจากของจริงนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรืออุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพแต่ยังคงต้องนำมาใช้งานอยู่ด้วยเงื่อนไขบางประการ คนกองมักถูกผลักให้รับความเสี่ยงด้วยปัจจัยเรื่อง “งบ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ควรมีเรื่องใดยิ่งใหญ่ไปกว่าชีวิตและความปลอดภัยของคนในกอง 


ยกตัวอย่างจากคนใกล้ตัวของผู้เขียนที่ได้รับบาดเจ็บศีรษะแตกขณะกำลังจัดเก็บอุปกรณ์ในการถ่ายทำ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์และยังมีคนกองอีกมากมายที่ได้รับบาดเจ็บหรือบางรายเสียชีวิตจากการขาดมาตรฐานความปลอดภัยของการทำงานในกองถ่าย  


ประการสุดท้ายคือสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือการไม่มีสัญญาจ้างเลย จากการสอบถามคนกองหลาย ๆ คน และจากประสบการณ์ส่วนตัวในการออกกองถ่ายโฆษณา พบว่าแทบไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเลยในการว่าจ้างแต่ละครั้ง ซึ่งคนกองเป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีสังกัดหน่วยงานชัดเจน จึงไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนักในกระบวนการทำงาน และเมื่อไม่มีสัญญาจ้างหรือมีแต่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกจ้าง พวกเขาก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย จริงอยู่ที่การคุยแชตก็นับเป็นสัญญาจ้างได้แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกการแชตเพื่อตกลงงาน จะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมและเป็นธรรมสำหรับแรงงานเสมอไป 


นักแสดงคนหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่าตนเองและเพื่อนนักแสดงอีกหลายคนต้องทำงานโดยที่ยัง ไม่ได้เซ็นสัญญาจ้าง นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลาการถ่ายทำ 2 - 3 เดือนนี้ เธอต้องทำงานโดยที่ ไม่รู้ว่าจะได้ค่าตอบแทนเมื่อไหร่ จ่ายในช่องทางใด และหากมีการจ่ายล่าช้าจะได้รับการชดเชยอะไรบ้าง 


เวลาที่เจอปัญหาหรือได้รับความไม่ยุติธรรมเรามักทวงถามถึงการคุ้มครองและช่วยเหลือในทางกฎหมายใช่หรือไม่ หากคนกองเป็นแรงงานในระบบเช่นเดียวมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ปัญหาเหล่านี้อาจจบลงโดยง่าย แต่น่าเสียดายที่เหล่าคนกองถูกจัดเป็น “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งหมายถึง ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานโดยไม่มี สัญญาการจ้างงานที่เป็นทางการ หรือไม่มีนายจ้างตามความหมายของกฎหมายแรงงาน ไม่ได้ทำงาน อยู่ในสถานประกอบการของนายจ้าง ไม่มีค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่แน่นอน เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือทำงานชั่วคราว แรงงานนอกระบบจึงเป็นแรงงานที่ ไม่ได้อยู่ในกรอบความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม ทำให้ไม่มีหลักประกันความมั่นคงใด ๆ ในการทำงาน (ณัฐนันท์ เทียมเมฆ และ เจษฎา ศาลาทอง, 2565) 


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหมุดหมายแรกของการแก้ปัญหาเรื่องจำนวนชั่วโมงการทำงานที่มากเกินควร ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม อาจต้องเริ่มที่การมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ดังนั้นกฎหมายนั้นจึงต้องถูกออกแบบด้วยการรับฟังเสียงของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายฝั่งไม่ว่าจะเป็นนายทุน คนทำงาน และภาครัฐ ตามหลักการมีส่วนร่วมและหลักนิติธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารจัดการที่ดี 


ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) ที่รวบรวมแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เอาไว้ CUT ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างพลังในการต่อรองและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้ โดย CUT ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งหน้าผลักดันข้อเสนอยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานกองถ่ายด้วย 4 ข้อเสนอหลัก ซึ่ง 3 ใน 4 นั้นเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาข้างต้น กล่าวโดยสรุปคือ 1. การลดจำนวนชั่วโมงการทำงานปกติของคนกอง 2. ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่ควรจะมีในการทำงานในกองถ่าย 3. คนทำงานในกองถ่ายต้องมีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม 


ความคืบหน้าในขับเคลื่อนข้อเสนอของ CUT นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของแรงงานในอุตสาหกรรม เพราะข้อเสนอดังกล่าวถูกนำไปประชุมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วอยู่ในระหว่างการติดตาม โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการผลักดันภาคประชาสังคมในการทำแคมเปญ และประสานงานกับกรุงเทพมหานครในการดูแลกองถ่ายในพื้นที่  


ท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เมื่อมีแนวทางในการเรียกร้องที่มีประสิทธิภาพรวมถึงมีตัวแทนของเหล่าคนทำงานเช่นนี้แล้ว เราคงได้เห็นคุณภาพชีวิตของคนกองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคุณภาพผลงานและฝีมือของพวกเขาในไม่ช้า 


 

Author

Thawiteeya Buranakeattisuk

เฟม(ทุกที่รวมถึง)ทวิต เชื่อมั่นว่าทุกการขับเคลื่อนในสังคมทำพร้อมกันได้ไม่ว่าจะธรรมาภิบาล ต่อต้าน คอร์รัปชัน และความเท่าเทียมทางเพศ