อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ตกไปอยู่กับคนโกง

01.11.2023

สรุปประเด็น

  • กรณีกำนันนกถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้
  • การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่แค่ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นจึงอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ควรมีการสร้างความเข้าใจ และความรับผิดชอบของประชาชนให้คอยสอดส่องดูแลผู้แทนที่ตนเองเลือกด้วย

กำนันนก หรือ “ประวีณ จันทร์คล้าย” เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน หลังจากอดีตกำนันตำบลตาก้องได้เสียชีวิต เขาจึงลงสมัครกำนันและได้รับเลือกจนมาเป็น “กำนันนก” ในวันนี้ กำนันนกจึงเป็นตัวอย่างผู้ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเห็นชอบของประชาชนในท้องถิ่นสร้างความร่ำรวยจากการได้งานก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาท้องถิ่นและจังหวัด เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ใช้เงินซื้อคนเข้าพวก ใช้เงินซื้ออำนาจรัฐมาอยู่ภายในการอุปถัมภ์ได้ ซื้ออำนาจรัฐที่ติดอาวุธให้มาอยู่ใต้อำนาจ เพื่อสร้างความร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก


อำนาจรัฐติดอาวุธในกรณีนี้ก็คือ ตำรวจทางหลวง ที่มีหน้าที่ดูแลการใช้ถนนให้มีความปลอดภัยและรักษาระเบียบ ข้อบังคับ จำกัดการบรรทุกน้ำหนักในการขนส่ง เพื่อป้องกันถนนพังและชำรุด แต่ตำรวจบางคนกลับใช้อำนาจหน้าที่นี้หาเงินเข้าตัว โดยเรียกเงินสินบนรายเดือนจากรถบรรทุกที่จ่ายเงินค่าสติ๊กเกอร์ มีสิทธิ์เหนือกฎหมาย บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดได้ เมื่อถนนพัง ก็จะมีงบประมาณส่งมาซ่อมใหม่ ทำให้คนที่เลือกกำนันนก ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร


ถ้าหากไม่มีกรณี นายตำรวจทางหลวงที่มารับตำแหน่งใหม่ เพื่อปราบปรามส่วยสติ๊กเกอร์ทางหลวง ถูกยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงประจำเดือนที่บ้านกำนันนก ต่อหน้าตำรวจที่มาร่วมงานกินเลี้ยงคืนนั้นด้วยกว่า 20 คน กำนันนก ก็คงยังจะไม่มีใครไปแตะต้องได้ต่อไปเรื่อย ๆ และอาจจะมีพรรคการเมืองมาเชิญไปเข้าพรรค ได้เป็นสส. ได้เป็นถึงรัฐมนตรีในที่สุด ตามที่มีตัวอย่างมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน


ยังมีอีกตัวอย่าง คือ “เสาไฟกินรี” งบประมาณ 871 ล้านของ อบต.ราชาเทวะ ซึ่งจัดซื้อในราคาแพงมาก นำไปปักในถนนเข้าไปในทุ่งไร้คนสัญจร จนคนมีคนเห็นแล้วถ่ายรูปมาเผยแพร่สาธารณะ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั้งประเทศ แต่คนในตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ ก็ยังเลือก นายก อบต. นายทรงชัย นกขมิ้น ให้ชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นนายก อบต. ได้อีกสมัยหนึ่ง!


เล่ามาแต่เรื่องร้าย ๆ แต่เรื่องดี ๆ ก็มีให้เห็น เช่น อบต.ดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เข้ารับรางวัลองค์กรคุณธรรมต้นแบบในปี 2563 นี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ อบต.ดอนแก้วนี้ ได้รับรางวัลมาต่อเนื่องมานานนับสิบปีแล้ว ผมสนใจมาก จึงไปสอบถามรายละเอียด ได้ความว่า ที่นี่มีแต่คนดี ๆ มาอยู่รวมกัน ทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด และนายทหารเกษียณอายุ ที่อาสาเข้ามาทำงาน โดยไม่มีคู่แข่งจากกลุ่มนักแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณ เพราะที่ตำบลนี้งบประมาณน้อยมาก เลยไม่มีใครสนใจจะเข้ามาทำงาน ตำบลดอนแก้ว จึงรอดปากแร้งปากกามาได้ตลอด


อีกตัวอย่าง คือ เทศบาลตำบลพลา จังหวัดระยอง ที่ทำเรื่องดี ๆ ดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ดูแลแต่กับธุรกิจร้านค้าที่จ่ายส่วยเหมือนอีกหลาย ๆ ที่ เขาลงโทษสั่งปิดร้านขายอาหารริมหาด ที่มีนักเลงไปไล่นักท่องเที่ยวไม่ให้จอดรถหน้าร้าน 7 วัน ด้านเจ้าของร้านก็ยอมรับกติกาส่วนรวมโดยดี ออกมาไหว้ขอโทษยอมรับผิด ขอโอกาสปรับปรุงตัว


ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เพื่อมาสู่ข้อสรุปของผมว่า การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทยที่พูดกันแต่เรื่องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งแค่นั้นไม่เพียงพอ!!! ที่เราสอนประชาธิปไตยกันในโรงเรียนแค่เพียงให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าห้องหรือให้มีแค่สภานักเรียนแค่นั้นก็ยังไม่พอ


เราจะต้องสร้างความเข้าใจว่าการใช้อำนาจเลือกตั้งตัวแทนนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น สิ่งสำคัญนั่นก็คือความรับผิดชอบของผู้ที่ไปเลือกตั้ง ที่ต้องดูแลให้ผู้แทนของตนที่เลือกเข้าไปให้หน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์เข้ากับตัวเอง ญาติ และเพื่อนฝูง


การเรียนเรื่องประชาธิปไตย ควรมีการปฏิบัติในโรงเรียนด้วย เช่น ทดลองให้หัวหน้าห้อง เก็บรวบรวมเงินกองทุนห้องจากนักเรียนทุกคน แล้วให้หัวหน้าห้องเสนอเพื่อน ๆ ว่าจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร โดยต้องให้เพื่อนทั้งห้องมีส่วนร่วมกันคิด ถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ให้แต่ละโรงเรียนเชิญนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ มาเล่าให้ฟังว่าการบริหารงานในระบอบประชาธิปไตยที่ดี ท้องถิ่นและบ้านเมืองจะเจริญ โรงเรียนก็จะเจริญได้ด้วยการปฏิบัติอย่างไรบ้าง


ในต่างประเทศมีตัวอย่างการใช้ประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ใช่แค่เลือกตั้งครั้งเดียวแล้วจบ อย่างที่เมือง ปอร์โต อัลเลเกร ประเทศบราซิล มีการใช้กระบวนการที่เรียกว่า Participatory Budgeting หรือ การมีส่วนรวมออกแบบงบประมาณ โดยเปิดข้อมูลการใช้งบประมาณประจำปีให้ประชาชนในเมืองมาถกเถียงกัน และออกเสียงลงคะแนนว่า รัฐบาลเมืองควรออกแบบการใช้งบประมาณอย่างไร ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด


สำหรับประเทศไทย วันนี้เราเริ่มก้าวแรกในการเปิดข้อมูลงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึง กทม. ด้วยแล้ว โดยประชาชนสามารถเข้าไปดูรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยละเอียด ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่เอกสารหนาเป็นเล่ม ๆ ผ่านเว็บไซต์ ACT Ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ https://localbudgeting.actai.co/ และ https://bangkokbudgeting.wevis.info/ โดย WeVis


ประชาธิปไตย ที่ไม่จบแค่การเลือกตั้งนี่ล่ะ คือ วิธีการที่จะทำให้ “อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ไม่ให้ไปตกอยู่กับมือคนโกง”


------------------------


บทความต่อต้านคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ตกไปอยู่กับคนโกง

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน