อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก!

06.12.2023

สรุปประเด็น

ตำรวจในหลาย ๆ ประเทศมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันมากเพราะสาเหตุดังนี้

  • การมีความภักดีภายในต่อกัน “มากเกินไป”
  • การใช้วลี “หน้างานจริง” เป็นข้อแก้ตัว
  • การไม่บังคับใช้ระเบียบจริยธรรมจริง
  • วัฒนธรรมยอมรับทุจริตขององค์กร

หมูเถื่อน กำนันนก จีนสีเทา และข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมานั้น มีปัจจัยหนึ่งที่คาบเกี่ยวกันคือ ตำรวจ เพียงแต่แทนที่จะเกี่ยวข้องในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อความสงบสุขของประชาชน กลับไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ที่อาจจะมีส่วนร่วมในอาชญากรรมเหล่านั้นด้วย ช่างเป็นความน่าตลกร้ายของสังคมไทยอย่างมาก


นอกเหนือจากการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม คุ้มครองความปลอดภัย เป็นที่พึ่งด้านความเป็นธรรมทางกฎหมายให้กับประชาชนคนไทยแล้ว การให้บริการของตำรวจยังส่งผลต่อชาวต่างชาติอีกด้วย สะท้อนมาในภาพของปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศ ที่มีความแปรผันตรงกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการให้บริการของตำรวจอย่างมาก


ดังนั้นที่เราอาจจะเคยได้ยินข่าวว่า รัฐบาลจะจัดให้มีตำรวจจีนมาเดินตรวจร่วมกับตำรวจไทยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าต่อมาทางการไทยได้แก้ข่าวไปแล้วว่าเป็นข่าวปลอม ก็สะท้อนให้เห็นความไม่ไว้วางใจของนักท่องเที่ยวจีนต่อตำรวจไทย ตามที่เห็นการพูดคุยในโซเชียลมีเดียว่า เมืองไทยไม่น่ามาแล้วเพราะประเทศไทยไม่ปลอดภัย ตำรวจเป็นที่พึ่งไม่ได้


เรื่องการปฏิรูปตำรวจจึงสำคัญมาก ถ้าทำเรื่องนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็ขับเคลื่อนต่อไปได้ไม่ถึงไหน ปัญหาปากท้องประชาชนที่ตั้งใจจะแก้ ก็คงแก้ไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีเรื่องราวตำรวจรีดไถ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย


ตัวช่วยเรื่องการปฏิรูปตำรวจนี้อย่างหนึ่งคือ การที่ปัญหาการทุจริตในวงการตำรวจนั้น ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่เราจะศึกษาความสำเร็จและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหานี้จากประเทศอื่น ๆ ด้วย


ในหนังสือ “Police Corruption and Police Reforms in Developing Societies” โดย Kempe Ronald Hope ที่ได้รีวิววิธีการต่อสู้กับการทุจริตในตำรวจใน 8 รัฐ ทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา, ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกาและแคริบเบียนรวมถึงฮ่องกง โดยสรุปเป็นวิธีการต่าง ๆ มากมายในการปฏิรูปองค์กร ทั้งการตั้งหลักสูตรการฝึกอบรม การนำกำหนดระเบียบจริยธรรม การปฏิรูปการสรรหาและการเลื่อนตำแหน่ง และการเพิ่มค่าจ้างเพื่อสร้างตำรวจมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ ซึ่งสำเร็จแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับรูปแบบปัญหาของแต่ละพื้นที่


ยกตัวอย่างประเทศเคนยา ที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรตำรวจ จึงได้ใช้วิธีปฏิรูปองค์กรทั้งหมด ในขณะที่ในหมู่เกาะโซโลมอน ที่มีปัญหาการซื้อขายตำแหน่งเป็นปัญหาใหญ่ จึงเลือกที่จะใช้กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถของคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชาการระดับสูงก่อน


อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามปฏิรูปตำรวจในประเทศทต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ดูเหมือนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ยังไม่มากเพียงพอ ดูได้จากที่ ริชาร์ด เมสสิก เขียนสรุปสถานการณ์ปัจจุบันของการปฏิรูปตำรวจในหลาย ๆ พื้นที่ไว้ใน Global Anti-Corruption Blog ว่า


  • อาร์เจนตินา: “แม้จะผ่านการปฏิรูปตำรวจครั้งสำคัญล่าสุดในปี 2010 แต่ผลสำรวจและการประเมินด้านคอร์รัปชันของตำรวจก็ยังคงตกต่ำ”
  • แคเมอรูน: “การทุจริตเป็นองค์ประกอบที่เกิดขึ้นซ้ำและยืนยาวในการตำรวจ... ไม่สามารถมองเป็นเหตุการณ์ที่แยกออกมาได้ เพราะมันฝังลึกและเป็นระบบ”
  • กานา : “การปฏิรูปที่เกิดขึ้น ไม่ได้ลดลงการทุจริตในวงการตำรวจกานาเลย... มีความไม่พอใจของประชาชนที่แพร่หลายต่อการดำเนินงานของตำรวจ”
  • อินเดีย: “การทุจริตของตำรวจมีอยู่อย่างแพร่หลายในอินเดีย...ตำรวจทำงานโดยมีการตรวจสอบและตรวจสอบน้อย”
  • เคนยา: “แม้จะมีการสถาปนาสถาบันตำรวจใหม่ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงการให้บริการของตำรวจและการปฏิรูปต่าง ๆ นั้น การทุจริตของตำรวจยังคงเกิดขึ้นในกิจวัตรประจำวันของตำรวจเคนยา...”
  • หมู่เกาะโซโลมอน: “กองกำลังตำรวจยังใหม่อยู่มากกับการสอบสวนการทุจริต”
  • แอฟริกาใต้: “แม้จะมีการปฏิรูปหลังอพาร์ไธด์ ยังมีหลักฐานการทุจริตในตำรวจระดับสูงที่เพิ่มขึ้นอยู่”
  • ตรินิแดดและโตเบโก: “แม้จะมีความพยายามปฏิรูปตำรวจมากมายในช่วงหลังยุคอาณานิคม ตำรวจยังคงถูกมองว่าเป็นคนรุนแรง ทุจริต ไม่มีความสามารถ และต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”


ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปตำรวจนั้น ไม่ได้สูตรสำเร็จและไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริง ๆ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://globalanticorruptionblog.com/2015/11/20/the-challenge-of-police-reform-in-developing-nations/


ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ แมทธิว สตีเฟนสัน แห่งฮาร์วาร์ดมีข้อสังเกตว่า ที่ตำรวจในหลาย ๆ ประเทศมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันมาก นั่นเป็นเพราะตำรวจมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก ได้แก่

1. การมีความภักดีภายในต่อกัน “มากเกินไป”: แม้ว่าความรักใคร่กลมเกลียวและภักดีต่อกัน จะเป็นคุณสมบัติที่ดี ทำให้องค์กรดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่ถ้ามีมากเกินไป อาจจะทำให้ความสำคัญของความภักดีนี้ เหนือกว่าเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กร ซึ่งคือการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดการแบ่งแยกระหว่างคนภายในและภายนอกกลุ่มอย่างชัดเจน เช่น ตำรวจไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน เพราะเป็นพวกเดียวกัน แต่กับประชาชนที่เป็นคนนอก จะฆ่า จะฟ้อง หรือจะขายก็ทำได้

2. การใช้วลี “หน้างานจริง” เป็นข้อแก้ตัว: หนึ่งในกลไกทางจิตวิทยาที่คนโกงมักใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำความผิด โดยตัวเองไม่รู้สึกผิดคือ คือการอ้างว่าตัวเองเป็น “นักปฏิบัติหน้างานจริง” ไม่ใช่แค่ “นักทฤษฎี” เช่น เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะจับโจรด้วยวิธีตามตำรา เพราะ “หน้างานจริง” มันต้องรุนแรงแบบนี้หรือต้องรับสินบนเพื่อเอาเงินไปทำให้งานสำเร็จ ซึ่งอาจเป็นจริงในบางกรณี แต่หากปล่อยให้สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องสนใจขั้นตอน กฎ ระเบียบแล้ว การทุจริตที่ใหญ่ขึ้นก็จะตามมาได้อย่างรวดเร็ว

3. การไม่บังคับใช้ระเบียบจริยธรรมจริง: หลายองค์กรมีระเบียบจริยธรรมเขียนไว้อย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ รวมถึงตำรวจในหลาย ๆ ประเทศ ที่มองเป้าหมายปลายทางสำคัญที่สุด เช่น จับโจรให้ได้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันแล้วถ้าเรื่องไหนแดงขึ้นมา ก็ค่อยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับองค์กรอย่าเหมารวม คนโกงเป็นแค่ปลาเน่าตัวนึงเท่านั้น

4. วัฒนธรรมยอมรับทุจริตขององค์กร: เมื่อลักษณะทั้ง 3 ประการในข้างต้นเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะค่อย ๆ สะสมจนกลายเป็นวัฒนธรรมทุจริตขององค์กร และองค์กรที่ทุจริตก็มักดึงดูดคนที่ทุจริตเข้ามาร่วม เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยากจะแก้ไข อย่างที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่


ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://global-anticorruptionblog.com/2020/06/09/are-there-common-features-of-dysfunctional-organizational-cultures-corruption-and-police-brutality/


ทีนี้ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว ทำอะไรได้บ้าง จึงขอยกตัวอย่างข้อเสนอการปฏิรูปองค์กรตำรวจของไนจีเรีย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ว่า เป็นแนวทางข้อเสนอที่มีความครอบคลุม ได้แก่

1. การควบคุมความซื่อสัตย์อย่างเข้มงวด: มีการตรวจสอบการใช้งานอุปกรณ์และวัสดุ ความถูกต้องของรายงานตำรวจ และการชำระเงินค่าปรับและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่แต่ละคนนอกจากนี้ ยังควรมีการปฏิรูประบบการประเมินผลโดยประชาชน เพื่อเน้นย้ำความซื่อสัตย์และความเป็นมืออาชีพ

2. ความเป็นอิสระ: ตำรวจไนจีเรียต้องมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองหลักทุกพรรค เพื่อเลือกผู้ตรวจการและผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งจะช่วยให้แน่ใจว่าผู้นำของกองกำลังตำรวจได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอ

3. การปฏิรูปความโปร่งใส: การพัฒนาเครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถให้คะแนนและรายงานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เช่นเดียวกับการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับการทุจริต

4. การปฏิรูปเงินเดือน: การเพิ่มเงินเดือนของตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจการปฏิรูป เพื่อลดแรงจูงใจในการทำผิดและเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้วยความซื่อสัตย์


สุดท้ายก็ขอกลับมาย้ำอีกทีว่า ไม่ว่ารัฐบาลอยากจะแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนก่อน อยากจะสร้าง Soft Power ก่อน อยากจะแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตรก่อน หรืออยากกระตุ้นการท่องเที่ยวก่อน ก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก หากไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชันไปด้วย และจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ก็คือวงการตำรวจนี่ล่ะครับ



------------------------


บทความแนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก!

Author

Torplus Yomnak

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มือสมัครเล่นพ่อลูกอ่อน และยังมีความหวังกับอนาคตสังคมไทยที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน