ภาษา : อาวุธเงียบต้านคอร์รัปชัน
26.07.2023
สรุปประเด็น
คุณคิดว่าคอร์รัปชันเปรียบเหมือน “โจร" หรือ "โรคร้าย” ? งานวิจัยจากนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์บอกไว้ว่าอิทธิพลของภาษาส่งผลต่อการรับรู้ปัญหาคอร์รัปชันของสังคม จากการทดลอง ผู้อ่านบทความที่เปรียบเทียบคอร์รัปชันว่าเป็น “โจร” มีแนวโน้มจะมองว่าคอร์รัปชันต้องแก้ด้วยการปราบปราม แต่ถ้าบทความเปรียบเทียบคอร์รัปชันเป็น “โรคร้าย” ผู้อ่านมักเสนอแนวทางป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นหลัก
การเปรียบเทียบยังส่งผลต่อความคิดที่ว่าใครควรจะรับผิดชอบในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าเราเปรียบเทียบคอร์รัปชันเป็น “เรืออับปาง” ผู้อ่านจะมองว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับสังคมที่ผู้นำต้องมีบทบาทในการแก้ไข ถ้าเราเปรียบเทียบคอร์รัปชันเป็น “ไฟไหม้บ้าน” ผู้อ่านจะมองว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับปัจเจกที่ต้องร่วมมือแก้ไข
การศึกษาของ U4 Anti-Corruption Resource Center (2566) ยังบอกว่า ข้อความด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมีอิทธิพลกับผู้รับสาร 3 ระดับคือ กระตุ้นให้คนต่อต้าน ไม่กระตุ้นให้คนออกมาต่อต้าน และไม่กระตุ้นให้คนต่อต้านและกลับนิ่งเฉยหรือเลือกจะคอร์รัปชันมากกว่าเดิม
ภาษา เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทุกคน และเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านท่าทางหรือกิริยา และแสดงออกผ่านการพูด จึงเรียกได้ภาษาคือส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาเป็นมากกว่าแค่เครื่องมือในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ และการตั้งชื่อให้กับสิ่งต่าง ๆ เพียงเท่านั้น เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้การกำหนดคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ในสังคมภาษาระบุว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี สิ่งไหนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือไม่มีคุณค่า สิ่งที่พึงปฏิบัติ หรือ ห้ามปฏิบัติ จึงกล่าวได้ว่า ภาษาก็เป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดทิศทาง และคุณค่าของสังคม ดังคำพูดที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาอ้างข้างต้นโดย Adrienne Rich กวีสตรีนิยม ที่ระบุว่า “Language is power... Language can be used as a means of changing reality.” หรือ ภาษา คือ อำนาจ เพราะภาษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือ หรือ วิธีการในการกำหนดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เป็น “ความจริง” และ เป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” เช่นเดียวกับงานด้านคอร์รัปชัน ก็มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องหลายชิ้นก็ระบุว่าภาษามีอิทธิพลอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีที่เรามองและรับรู้ถึงปรากฏการณ์การคอร์รัปชัน และมีการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้นผ่านการรณรงค์ การจัดทำสื่อ หรือกิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชันขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ภาษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยเสริมพลังในการแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยในประเทศไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้ระบุว่าภาษา มีอิทธิพลต่อการรับรู้เรื่องคอร์รัปชันผ่านการใช้คำที่แตกต่างกัน โดยนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ นฤดล จันทร์จารุ และคณะ ได้ศึกษาอิทธิพลของภาษาที่ส่งผลต่อการรับรู้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมผ่านการใช้การเปรียบเปรย หรือ ใช้คำอุปลักษณ์เปรียบเทียบกับคำว่าคอร์รัปชัน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้อุปลักษณ์ของคำว่าคอร์รัปชันส่งผลต่อการการรับรู้และการเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันของประชาชน และมีอิทธิพลต่อการรับรู้วิธีการการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของผู้อ่านที่แตกต่างกันไปจากการใช้คำที่แตกต่างกัน
จากการทดลอง พบว่าประชาชนที่ได้อ่านบทความที่เปรียบการคอร์รัปชันเป็น “โจร” ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะมองว่าการคอร์รัปชันนั้นจะต้องแก้ไขโดยการใช้วิธีการปราบปราม แต่ถ้าบทความใช้อุปลักษณ์ว่าคอร์รัปชันเป็น “โรคร้าย” ผู้อ่านมักจะเสนอแนวทางป้องกันเป็นหลัก เหมือนการป้องกันสังคมจากโรคร้าย ซึ่งในที่นี้คือ การคอร์รัปชัน ในขณะเดียวกัน อุปลักษณ์ยังสามารถใช้ในการตีกรอบความคิดของผู้อ่านว่าใครควรจะรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เช่น การเปรียบเทียบการคอร์รัปชันเป็น “เรืออับปาง” ทำให้ผู้อ่านมองว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับสังคม และผู้นำและผู้กำหนดนโยบายของประเทศควรเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ในทางกลับกัน หากการคอร์รัปชันถูกเปรียบเทียบว่าเป็นปัญหา “ไฟไหม้บ้าน” ผู้อ่านมักจะมองว่าปัญหาคอร์รัปชันคือ ปัญหาในระดับปัจเจก และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไข การใช้อุปลักษณ์ในบริบทที่แตกต่างกันทำให้มองเห็นความสำคัญของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ใช่เพียงผู้นำหรือนโยบายของประเทศเท่านั้นที่ควรรับผิดชอบ จึงกล่าวได้ว่า ภาษา และการใช้คำ นั้นมีอิทธิพลในการตีกรอบความคิดของผู้อ่าน และกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการคอร์รัปชัน
ปัจจุบันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลกก็มักจะใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและกระตุ้นให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการจัดแคมเปญ และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในหลักหลายรูปแบบผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น “เด็กไทยโตไปไม่โกง” “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” เป็นต้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแคมเปญประชาสัมพันธ์เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกของผู้รับสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากงานศึกษาของ U4 Anti-Corruption Resource Center ปี 2566 เรื่อง “Message misunderstood: Why raising awarenessof corruption can backfire” ได้ชี้ ให้เห็นว่าข้อความด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมีอิทธิพลต่อผู้รับสาร โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง ข้อความมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้คนต่อต้านคอร์รัปชัน สอง ข้อความไม่กระตุ้นให้คนออกมาต่อต้านคอร์รัปชัน และสาม ข้อความไม่กระตุ้นให้คนต่อต้านคอร์รัปชัน และกลับกระตุ้นให้คนนิ่งเฉย หรือ เลือกที่จะคอร์รัปชันมากกว่าเดิม ซึ่งผู้เขียนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านทุกคนเห็นตรงกัน และเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดมากที่สุดคือ กรณีแบบที่สาม เพราะนอกจากจะเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็นแต่ผลกลับได้ผลลัพธ์ตรงข้ามกับเป้าหมาย จึงเรียกได้ว่า การลงทุนครั้งนี้ขาดทุน
จากการศึกษาของ U4 Anti-Corruption Resource Center ข้างต้นพบว่ามีข้อความหลายประเภทที่ไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบแบบตรงข้าม (backfire) จากกรณีศึกษาในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ข้อความที่มุ่งกระตุ้นให้เห็นความน่ากังวลใจของปัญหาการคอร์รัปชัน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรการรัฐบาลในการต่อต้านคอร์รัปชันลดลง และไม่กระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมไปถึงทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นกิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันในขณะเดียวกัน การศึกษาในเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย พบว่าข้อความที่เน้นให้เห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่แพร่กระจายในพื้นที่หรือในประเทศ ข้อความที่ระบุว่าการคอร์รัปชันละเมิดหลักคำสอนและศีลธรรมทางศาสนา หรือข้อความที่เน้นให้เห็นความสำเร็จของรัฐบาลในการควบคุมการคอร์รัปชัน เป็นข้อความที่มีความเสี่ยงจะกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมติดสินบนมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน ข้อความบางประเภทก็มีผลกระทบในเชิงบวกในการกระตุ้นให้คนต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้นมากเช่นเดียวกัน เช่น ในประเทศคอสตาริกา จากการศึกษาพบว่าข้อความที่ชี้ให้เห็นปัญหาของการรับสินบนที่เพิ่มขึ้น และการศึกษาในกรุงพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี ข้อความที่ระบุว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหา “ท้องถิ่น” ส่งผลให้คนอยากมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มากขึ้น ทั้งนี้ ข้อความประเภทเดียวกัน กลับไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศอื่นๆ ในเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย จึงสามารถสรุปได้ว่าข้อความในการต่อต้านคอร์รัปชันในแต่ละประเภทนั้นมีอิทธิพลต่อแนวคิดของประชาชนในแต่พื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงมีบริบทอย่างอื่นที่ผลกระทบต่อการรับรู้และการกระตุ้นการต่อต้านคอร์รัปชันของประชาชนด้วย
จากตัวอย่างข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความมีประสิทธิภาพของการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยจะเห็นได้ว่าบริบททางสังคมของแต่ละประเทศมีผลกระทบในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมที่แตกต่างต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ข้อความหรือข้อมูลที่ตอกย้ำว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่แพร่หลาย หรือความสำเร็จของรัฐบาลในการปราบปรามการคอร์รัปชันอาจตอกย้ำความเชื่อของผู้อ่านโดยไม่ได้ตั้งใจว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ ข้อความที่ขาดข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับประสบการณ์ประจำวันของผู้อ่าน หรือมองในแง่บวกมากเกินไปต่อการทำงานด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันก็มีความเสี่ยงในการสูญเสียความน่าเชื่อถือของข้อความได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ส่งสาร และช่องทางการสื่อสารด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การศึกษาของนฤดล จันทร์จารุ และคณะ และ U4 Anti-Corruption Resource Center ชี้ว่ายังไม่มีการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความมีประสิทธิภาพอย่างแน่ชัด และจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับหน่วยงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่กำลังจะจัดทำแคมเปญหรืองานสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน งานวิจัยของ U4 Anti-Corruption Resource Center ได้เน้นย้ำว่าจะต้องเริ่มจากการเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และการทดลองความมีประสิทธิภาพของข้อความก่อนที่จะมีการปล่อยแคมเปญออกไป โดยงานวิจัยแนะนำว่าควรมีศึกษาเชิงทดลองข้อความดังกล่าวกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารด้วย โดยเริ่มจากการทดลองกับกลุ่มเป้าหมายขนาดเล็กก่อน และเมื่อได้ข้อความต้นแบบ (Prototype) แล้วจึงนำไปทดลองกับกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือการจัด focus group เนื่องจากข้อมูลที่ได้อาจไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงกับกลุ่มเป้าหมายจริงได้ และการใช้วิธีดังกล่าวยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงเรื่องความอคติของข้อมูลด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องศึกษาบริบทที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมประสิทธิภาพของข้อความหรือแคมเปญด้วย กระบวนการในการออกแบบข้อความนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัด และเข้าใจคุณลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
------------------------
บทความคิดด้วยพลเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ภาษา : อาวุธเงียบต้านคอร์รัปชัน
Author
Charoen Sutuktis
เป็น BeyHive และนักวิจัยผู้หลงใหลในงานพัฒนาสังคมและการสร้างธรรมาภิบาล เพราะเชื่อว่าความเสมอภาค จะช่วยให้ทุกคนสามารถ run the world