ศรัทธามา เงินตราเกิด..เปิดแนวปฏิบัติดูแลวัดห่างมิจ(ฉาชีพ)

19.04.2024

สรุปประเด็น

  1. วัดบางวัดไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา แต่กลายเป็นสถานที่ในการประกอบธุรกิจพุทธพาณิชย์ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการดูแลผลประโยชน์ของวัดอย่างเป็นระบบตามหลักธรรมาภิบาล
  2. ปัญหาในการบริหารจัดการวัดให้เป็นระบบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ตามแนวทางธรรมาภิบาลมีอยู่ 3 ปัญหาหลัก ได้แก่
  • การขาดระบบงานที่ชัดเจนในการบริหารด้านการเงินและทรัพย์สิน
  • การขาดการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในวัด และฆราวาสเพราะการตัดสินใจในการบริหารวัดขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสเป็นหลัก
  • บุคคลที่เข้าช่วยงานภายในวัด ส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องการบริหาร

“ถ้าเรื่องนี้ผิดกฎหมายจริง...จับไหวเหรอ?”


หนึ่งในประโยคเด็ดจากซีรี่ส์เรื่อง “สาธุ” ทาง Netflix ในตอนที่วินโดนตำรวจจับข้อหา “เกาะศาสนา...กิน” (ผู้เขียนคงไม่ต้องลงรายละเอียดมากเพราะเชื่อว่าผู้อ่านคงดูซีรี่ส์เรื่องนี้กันมาแล้ว หรือถ้ายังไม่ได้ดูเชิญที่ Netflix ได้เลยนะคะ) วินจึงตั้งคำถามกลับไปว่า “ถ้าเรื่องนี้มันผิดจริง คุณตำรวจจับไหวเหรอ” ที่ฟังแล้วก็แอบหยุดคิดตามไม่ได้ว่า “อืมมม เราจับคนหากินกับวัดกันไหวจริง ๆ ไหม” หรือกับคำถามที่ว่า “แล้วเรากล้าจับจริง ๆ เหรอ” เพราะเราต่างก็ทราบกันดีว่า “วัด” เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในดินแดนเมืองไทยเมืองพุทธแห่งนี้ ใครที่ก้าวเข้าเขตวัดจะกลายเป็นคนดีไปโดยอัตโนมัติ หรือถ้าเริ่มหย่อนเงินทำบุญเพียง 20 บาทลงตู้บริจาค ก็อาจจะเห็นแสงออร่าของการสะสมบุญขึ้นมารำไร ๆ ยิ่งบริจาคมากยิ่งได้บุญใหญ่กลายเป็นคนดีของสังคมตลอดกาล


ดังนั้น วัด จึงแอบกลายเป็นแลนด์มาร์คสำหรับการฟอกตัว ฟอกเงินและเป็นแหล่งหากินของคนที่ไม่หวังดีและต้องการหาผลประโยชน์จากวัด โดยจะเห็นได้จากหลาย ๆ คดีที่ผู้กระทำผิดเลือกที่จะไปบวชเป็นพระก่อนที่จะมาสะสางความผิด หรือติดคุกชดใช้กรรมที่ทำไว้เสียด้วยซ้ำ วัดจึงเป็นสถานที่ฟอกตัวชั้นดีของกลุ่มคนเหล่านี้ไป ยิ่งวัดไหนมีของดีของเด็ดของขลังคนยิ่งเข้าหาวัดให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ กลายเป็นที่มาของ “ศรัทธามา เงินตราเกิด” เพราะการแสดงออกถึงพลังศรัทธาที่จับต้องได้ เห็นได้ชัดด้วยตาเนื้อ เงิน คือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดยิ่งทำบุญมากยิ่งแปลว่าศรัทธามาก วัดจึงไม่ได้แค่ดึงดูดคนเข้ามาทำบุญเท่านั้น แต่ยังดึงดูดคนที่จะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเองอีกด้วย


เมื่อวัด (บางวัด) ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา แต่เป็นสถานที่ในการประกอบธุรกิจพุทธพาณิชย์ มีผลประโยชน์มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความวุ่นวายในการเข้ามาตักตวงเอาผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย เสียชื่อเสียง และกระทบต่อความเลื่อมใสศรัทธาต่อสถาบันศาสนาได้ ดังนั้น การจัดการดูแลผลประโยชน์ของวัดอย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จากการศึกษาของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลร่วมกับมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) พบปัญหาในการบริหารจัดการวัดให้เป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามแนวทางธรรมาภิบาลอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่


หนึ่ง วัดขาดระบบงานที่ชัดเจนในการบริหารด้านการเงินและทรัพย์สิน ทั้งการบันทึกรายรับ รายจ่าย ระบบบัญชีการเงิน ระบบบัญชีทรัพย์สิน และการอนุมัติเบิกจ่ายเงินทำให้การบริหารเงินและทรัพย์สินของวัด มีการปฏิบัติที่หลากหลายและแตกต่างกันมากโดยเฉพาะระหว่างวัดขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ไม่เป็นมาตรฐาน รวมถึงขาดความโปร่งใส ทำให้อ่อนไหวง่ายต่อการทำผิดพลาดและการรั่วไหล


สอง การตัดสินใจในการบริหารวัดขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสเป็นหลักทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในวัด และฆราวาสที่สามารถให้ความเห็น เพื่อแนะนำ ถ่วงดุล และปกป้องเจ้าอาวาส ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าอาวาส หากปฏิบัติเพียงลำพังและไม่เป็นระบบก็อาจพลาดพลั้งหรือผิดพลาดได้แม้ไม่มีเจตนา โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เจ้าอาวาสอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจ


สาม เจ้าอาวาส พระสงฆ์ ไวยาวัจกร และฆราวาสที่เข้าช่วยงานวัด ส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องการบริหาร และการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล นอกจากนี้การคัดเลือกบุคคลเข้ามาช่วยงานวัดก็ขาดกระบวนการที่เป็นระบบ โปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้คนดีมีความสามารถที่ไว้วางใจได้และมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยงานวัด


จากปัญหาทั้ง 3 ข้อ จึงนำมาสู่การดำเนินโครงการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล โดยได้วางแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้วัดสามารถดูแลตนเองได้อย่างเข้มแข็ง จำนวน 9 ข้อ ไว้ดังนี้

(1) ให้การบริหารวัดมีการตัดสินใจเป็นหมู่คณะในรูปแบบกรรมการ และมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล รวมถึงแยกการบริหารออกจากการกำกับดูแลในกรณีของวัดขนาดใหญ่เพื่อให้การบริหารงานวัดมีการกำกับดูแลที่เป็นเอกภาพโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ผู้บริหาร

(2) กำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของฆราวาสที่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการและไวยาวัจกร และมีการเสนอชื่อโดยชุมชน และ/หรือคณะศรัทธาที่เข้ามาช่วยงานวัด ก่อนที่จะครบวาระมีการประเมินผล การทำหน้าที่ของกรรมการที่เป็นฆราวาสและไวยาวัจกรเพื่อการพิจารณาต่อวาระในการทำหน้าที่

(3) เจ้าอาวาส พระสงฆ์ ไวยาวัจกร และฆราวาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ควรมีโอกาสได้รับการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการบริหารงานวัดตามหลักพระธรรมวินัย หลักกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล รวมถึงควรมีโอกาสได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะใช้ในการบริหารจัดการด้วย

(4) วัดควรกำหนดนโยบายและระเบียบที่สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษร

(5) วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน มีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพียงพอจัดทำรายงานทางการเงิน และดูแลการบัญชีของวัด

(6) วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบควบคุมภายในของวัด และรายงานผลการตรวจสอบตรงต่อเจ้าอาวาสหรือคณะกรรมการ

(7) วัดจัดทำรายงานทางการเงินและรายงานต่าง ๆ ตามระเบียบและมาตรฐานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด

(8) วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจจะลักษณะทั้งข้อมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน เปิดเผยอย่างทันเหตุการณ์ ไม่ล่าช้า รวมถึงมีระบบที่ตอบข้อซักถามโดยเจ้าหน้าที่วัดที่ได้รับมอบหมายในกรณีประชาชนมีข้อสงสัย

(9) คณะกรรมการวัดยึดแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล


สุดท้ายนี้ถ้าน้าแต๋ง และพระเอกชัย (ในเรื่องสาธุ) ใช้แนวปฏิบัติทั้ง 9 ข้อนี้บริหารวัดภุมราม ป่านนี้หลวงพี่ดลก็น่าจะได้ศาลาการเปรียญไว้แสดงธรรมเทศนาให้ชาวบ้านฟังเพื่อเผยแพร่ศาสนาตามที่ตั้งใจไว้ ไม่มีเวลาไปหวั่นไหวกับสีกาแน่ ๆ ค่ะ สาธุ


------------------------


บทความคิดด้วยพลเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน ศรัทธามา เงินตราเกิด..เปิดแนวปฏิบัติดูแลวัดห่างมิจ(ฉาชีพ)

Author

Nanwadee Dangarun

ผู้จัดการทั่วไป หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เจ้าหญิงเป็ดแห่งวงการต่อต้านคอร์รัปชัน" มีงานอดิเรกคือตามง้อแมว ตามใจแต่ไม่เคยถูกคลอเคลีย