เลือกตั้งเทศบาล 2568: บทบาทประชาชนในการสร้างความโปร่งใสและต้านคอร์รัปชันท้องถิ่น

14.05.2025

สรุปประเด็น

บทความนี้ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 โดยนำเสนอว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกลไกประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดประชาชนและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในพื้นที่โดยตรง ปัญหาคอร์รัปชันยังคงพบได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การซื้อเสียง การใช้อิทธิพล และการใช้ทรัพยากรรัฐอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ วัฒนธรรมอุปถัมภ์ และการขาดความเข้าใจในสิทธิทางการเมือง ประชาชนสามารถมีบทบาทสร้างความโปร่งใสได้โดยตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครผ่านแอป Smart Vote ปฏิเสธการซื้อเสียงและรายงานการทุจริตผ่านแอปตาสับปะรดหรือสายด่วน กกต. และติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้นำหลังเลือกตั้งผ่าน ACT Ai หากพบความผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนอย่าง Corruption Watch และเพจต้องแฉ การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนคือกุญแจสำคัญในการสร้างการเมืองท้องถิ่นที่โปร่งใส ยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งเทศบาล 2568 ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการทางการเมือง แต่เป็นเวทีที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมสร้างการเมืองท้องถิ่นที่โปร่งใสได้จริง เลือกตั้งเทศบาล 2568 เป็นจุดเริ่มสร้างความโปร่งใสในท้องถิ่น ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ต้านคอร์รัปชัน และร่วมพัฒนาชุมชน


สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทั่วประเทศที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป็นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และเลือกผู้นำที่มีคุณภาพ มีจริยธรรม สามารถพัฒนาท้องถิ่นอย่างโปร่งใส หลังจากกระบวนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง บทความฉบับนี้จึงขอถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างความโปร่งใสการเลือกตั้งท้องถิ่น ปัญหาคอร์รัปชันที่มักเกิดขึ้นในระดับเทศบาล รวมถึงแนวทางที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในท้องถิ่นของตนเอง 


การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกลไกประชาธิปไตยที่สำคัญและใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม การเลือกผู้นำท้องถิ่นจึงไม่ใช่เพียงการลงคะแนนเสียงแต่เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนของตนเอง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการทำงานของผู้นำหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้วล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และสร้างความโปร่งใสในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นได้ 


ปัญหาคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น แม้การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ในหลายพื้นที่กลับประสบปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก ปัญหาเหล่านี้สามารถพบได้ในหลายรูปแบบ เช่น การซื้อเสียงในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น การใช้อำนาจหรืออิทธิพลครอบงำผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียงอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น เช่น ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการตรวจสอบการทำงานของผู้นำท้องถิ่น วัฒนธรรมอุปถัมภ์ความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเกรงใจหรือ “ติดหนี้บุญคุณ” และประชาชนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง เป็นต้น  


“ประชาชนจะมีบทบาทในการสร้างความโปร่งใสได้อย่างไร?” ประชาชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความโปร่งใสโดยสามารถมีส่วนร่วมได้ในหลายรูปแบบ

  • ประการแรก การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยศึกษาประวัติ ผลงานที่ผ่านมา และนโยบายของผู้สมัครอย่างรอบคอบ นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันของผู้สมัครมีความสำคัญอย่างมากที่จะใช้ในการพิจารณาว่าผู้สมัครจะมีแนวทางจะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างไร หรือผู้สมัครจะมีนโยบายที่ส่งเสริมความโปร่งใสอย่างไร ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้นได้ทางแอปพลิเคชันฉลาดเลือก Smart Vote ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้น  
  • ประการที่สอง ปฏิเสธการซื้อเสียงและรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเห็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีช่องทางแจ้งเหตุทุจริตการเลือกตั้งหลายช่องทาง เช่น แอปพลิเคชันตาสับปะรดที่สามารถแจ้งเบาะแสได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือคลิปวิดีโอ โทรศัพท์ศูนย์รับแจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้งหมายเลข 02-141-8860 สายด่วน กกต.1444 และการเดินทางเข้าแจ้งเรื่องโดยตรงที่ กกต. ประจำจังหวัด เป็นต้น  
  • ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้นำท้องถิ่นหลังได้รับเลือกตั้ง ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารท้องถิ่น ประชาชนสามารถมีบทบาทในการติดตามและตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ของตนเอง เช่น โครงการก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน โครงการขุดลอกคลอง และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยสามารถตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าของโครงการเหล่านี้ได้ผ่านเครื่องมือ ACT Ai : https://actai.co/ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ใกล้บ้านของทุกท่านได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยระบบจะแสดงข้อมูลว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น โครงการที่กำลังก่อสร้างถนนหน้าบ้านของท่านเป็นของหน่วยงานใด ใครเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินการตามรายละเอียดที่โครงการกำหนดหรือไม่ ตลอดจนการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างผู้รับเหมาที่ได้รับงานกับผู้นำในท้องถิ่น เพื่อพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวมีลักษณะของการเอื้อประโยชน์หรือไม่  


นอกจากนั้นหากประชาชนพบเห็นความผิดปกติหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เช่น การสร้างไม่ได้มาตรฐาน โครงการล่าช้าจนหมดสัญญา หรือโครงการถูกทิ้งร้าง สามารถแจ้งเบาะแสให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าตรวจสอบ เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ในพื้นที่ ศูนย์ดำรงธรรม กรณีที่ประชาชนไม่มั่นใจการแจ้งเรื่องผ่านช่องทางของหน่วยงานรัฐอาจจะมีความกังวลเรื่องการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งเรื่อง ผู้เขียนขอแนะนำช่องทางที่ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสโดยแนบหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางเครื่องมือ Corruption Watch ฟ้องโกงด้วยแชตบอต และเฟซบุ๊กเพจต้องแฉ (Must Share) ที่เป็นเครื่องมือรับแจ้งเบาะแสทุจริตคอร์รัปชันสําหรับประชาชน ซึ่งจะไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผู้แจ้งเบาะแส และมีทีมงานประสานงานส่งเบาะแสของผู้แจ้งไปที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ รวมถึงมีการติดตามความคืบหน้าให้กับผู้แจ้งได้ทราบข้อมูล 


การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชุมชนตนเอง ความโปร่งใสในการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนลุกขึ้นมามีบทบาท ตั้งแต่การตรวจสอบผู้รับสมัครเลือกตั้ง การปฏิเสธและรายงานเมื่อพบเห็นการซื้อเสียง ไปจนถึงการติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้นำหลังการเลือกตั้งผ่านเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ ที่เปิดให้เข้าถึง การมีส่วนร่วมเหล่านี้คือหัวใจของการสร้างการเมืองท้องถิ่นที่โปร่งใส ยั่งยืน เป็นธรรม และตอบสนองต่อประชาชนอย่างแท้จริง


---------------------------

บทความคิดด้วยพลเมือง ตอน : เลือกตั้งเทศบาล 68 : ประชาชนร่วมสร้างความโปร่งใสในการเลือกตั้งได้อย่างไรบ้าง 


---------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง

  1. 6 ปี ACT Ai - เครื่องมือสู้โกงของประชาชน : https://hand.co.th/blog/act-ai-6-years-fighting-corruption
  2. Red Flag สัญญาณอันตรายในการเมืองท้องถิ่น เมื่อผลงานบดบังความโปร่งใส : https://hand.co.th/blog/red-flag-local-politics

Author

Patcharee Treeprom

ผู้จัดการโครงการ ทำงานสร้างความร่วมมือกับภาคีเพื่อขับเคลื่อนงานด้านธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน เวลาว่างต้องพาหมาน้องแจ็คไปเข้าสังคมที่สวนรถไฟ