“กทม. กับการทุจริต ที่ยังรอผู้ว่าที่กล้าแก้” รายงานผลการสำรวจสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันใน กทม. ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของคนกรุงเทพฯ

Summary

สำรวจมุมมอง ประสบการณ์ ปัญหาคอร์รัปชันของกรุงเทพฯ จากประชาชน เเละผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และรวบรวมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของกรุงเทพฯ จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระหว่าง 5-10 ปี (พ.ศ. 2556-2565) เพื่อให้ผลสำรวจครั้งนี้ สามารถสะท้อนเสียงของคนกรุงเทพฯ และความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันได้จริง หลังจากนั้น จึงนำข้อมูลที่ได้มาสรุปเป็นประเด็นปัญหา 5 เรื่องใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และจัดทำเป็นข้อเสนอในการออกเเบบนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องเร่งเเก้ไขเพื่อให้องค์กร สื่อ และภาคประชาชนสามารถติดตามนโยบายการทำงานของผู้ว่าฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Insight

ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองของคนกรุงเทพฯ ต่อปัญหาคอร์รัปชัน ผ่านสองปัญหาใหญ่ คือ 1.) การบริหารจัดการเมืองที่ขาด ความโปร่งใส ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่าการไม่เปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบก็คือการคอร์รัปชันแล้ว และ 2.) การมีบริการสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตก็เป็นผลมาจากการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. การตรวจรับงานที่ไม่มีคุณภาพ/การฮั้วราคา และการใช้อิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสที่เป็นธรรมในกรุงเทพฯ และทำให้พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตลอดชีวิต คนกรุงเทพฯ จึงมองว่าผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้เด็ดขาด ด้วยการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง สร้างช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัย ปรับปรุงระบบตรวจสอบให้เข้มแข็ง และเรียกร้องให้ ผู้ว่า ฯ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้อำนาจในทางมิชอบได้

บริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ทุจริต คอร์รัปชันของ กทม. ในช่วง 5 – 10 ปี (พ.ศ. 2556 – 2565) ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของคนกรุงเทพฯ เพื่อสะท้อนความรุนแรงของสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน 5 เรื่องใหญ่ ที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเร่งแก้ไข และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชัน (Quick Win) ในมุมมองของคนกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ว่าฯ ผนวกปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นนโยบายหลัก และเป็นภารกิจเร่งด่วนของผู้ว่าฯ ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในกทม.


โดยการสำรวจครั้งนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 7 – 18 เม.ย. พ.ศ. 2565 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ผ่าน เพจเฟซบุ๊กต้องแฉ จำนวนทั้งสิ้น 310 คน โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ จำนวน 227 คน และมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 65 คนที่ระบุว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรก โดยได้แบ่งกลุ่มของผู้ตอบแบบสอบถามตามช่วงอายุ เพื่อนำเสนอมุมมองและประสบการณ์เรื่องการคอร์รัปชันของคนสองรุ่น คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18 – 30 ปี จำนวน 70 คน และกลุ่มคนที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว อายุระหว่าง 31- 40 ปี จำนวน 158 คน (หมายเหตุ: การสำรวจนี้ไม่ได้กำหนดให้ตอบคำถามครบทุกข้อ) หลังจากนั้นจึงนำผลมาวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 6 คน และข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากเหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ช่องทางร้องเรียนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ กทม. ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ รวมถึงเครื่องมือตรวจจับโกงภาคประชาชน ได้แก่ ACT ai และเพจเฟซบุ๊กต้องแฉ เพื่อให้ผลสำรวจครั้งนี้ สามารถสะท้อนเสียงของคนกรุงเทพฯ และความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันได้จริง


ผลสำรวจสะท้อนว่า ในช่วง 5 – 10 ปี (พ.ศ. 2556 – 2565) ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันใน กทม. ทวีความรุนแรงและกระจายตัวอยู่อย่างกว้างขวางผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใสและเป็นธรรม และยังชี้ชัดว่าคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 80 รับรู้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันใน กทม. และต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้เด็ดขาด โดยคณะผู้วิจัยนำผลที่ได้มาวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชัน (Quick Win) ในมุมมองของคนกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ว่าฯ ผนวกปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นนโยบายหลัก และเป็นภารกิจเร่งด่วนของผู้ว่าฯ ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันใน กทม. 3 ข้อ ได้แก่


1.) กทม. ต้องเร่งสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยสิ่งแรกที่ทำได้ คือเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดในการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. ให้ทุกคนร่วมกันตั้งข้อสังเกต ติดตามและตรวจสอบความผิดปกติได้ 


2.) กทม. ควรมีวิธีการต้านโกงที่สอดคล้องกับคนต่างรุ่น ต่า'ประสบการณ์ เนื่องจากแต่ละคนมีความเข้าใจ และประสบการณ์ของการคอร์รัปชันที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนกรุงเทพฯ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 18 - 30 ปี) ให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วม (Participation) เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ และโครงสร้างสังคมที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนกลุ่มคนที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว (อายุระหว่าง 31- 40 ปี) ให้ความสำคัญเรื่องของความรับผิดชอบ (Accountability) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มบทลงโทษ ใครทำผิดต้องจับให้ได


3.) การป้องกัน ต้องทำต่อไป มาตรการปราบปราม ต้องเข้มแข็ง ส่วนการปลูกฝัง ต้องปฏิรูป โดยสิ่งแรกที่ทำได้ คือการประกาศว่าทุกโครงการของ กทม. ต้องเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้การตรวจสอบง่ายขึ้น และควบคุมกระบวนงานที่มีความเสี่ยงได้ ส่วนการปลูกฝัง ต้องปฏิรูป โดยเริ่มจากการปรับปรุงแผนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของหน่วยงานที่วัดผล และประเมินผลได้จริง เพื่อออกแบบกิจกรรม / มาตรการให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงาน เช่น พัฒนาระบบการแจ้งเบาะแส พัฒนาระบบบริการออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับกทม. เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันด้วย (Check and Balance)

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน