ส่งเสริมศักยภาพการทำงานของนักวิจัยภายใต้เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะทีมนักวิจัยพื้นที่ในการออกแบบกลไกเฝ้าระวังการคอร์รัปชันร่วมกับคนในพื้นที่จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา และกรุงเทพฯ เพื่อเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความแตกต่างของปัญหาจากมุมมองที่หลากหลาย และเข้าใจบริบทรอบด้านที่เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหานี้ หลังจากนั้น จึงนำมาถอดบทเรียนเพื่อประสานองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ากับการปฏิบัติจริงด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยการนำผลการวิจัยไปสู่การทดลองในพื้นที่จริงแล้วนำผลการปฏิบัติจริงกลับมาศึกษาเพื่อส่งมอบให้องค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันไปขับเคลื่อนต่อเนื่อง และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะเพื่อขยายผลกระทบทางสังคม ให้ความรู้ และกระตุ้นความเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกงของคนไทย
ผลจากกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่ พบว่า แนวทางการส่งเสริมธรรมาภิบาลในแต่ละพื้นที่ต้องเริ่มจากการส่งเสริมที่ตอบโจทย์ปัญหาคอร์รัปชันในแต่ละบริบทพื้นที่ เช่น ชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ซึ่งอาจเป็นการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลแค่บางข้อที่ช่วยลดข้อจำกัดและเสริมสร้างศักยภาพได้ เช่น หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบได้ เมื่อหลักธรรมาภิบาลข้อดังกล่าวมีความเข้มแข็ง ก็ส่งเสริมให้เกิดหลักธรรมาภิบาลข้ออื่นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน จะต้องริเริ่มจากประเด็นคอร์รัปชันที่คนในพื้นที่ให้ความสนใจหรือเป็นประเด็นที่ใกล้ตัว แล้วจึงขยายไปสู่การส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันที่กว้างออกไป โดยข้อค้นพบประการนี้เป็นต้นแบบสำคัญในการนำไปศึกษาต่อหรือประยุกต์ใช้จริงอย่างมีหลักการที่พิสูจน์ได้ในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยได้
โครงการประสานงานวิจัยและส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชันได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพการทำงานของนักวิจัยภายใต้เครือข่ายได้กว้างขวางขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะทีมนักวิจัยในพื้นที่น่าน แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา สงขลา และกรุงเทพฯ ในการออกแบบกลไกเฝ้าระวังการคอร์รัปชันร่วมกับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงถอดบทเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการวิจัยด้านการต้านโกงอย่างมีส่วนร่วม
ผลจากการศึกษาดำเนินงาน โครงการฯ ได้นำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัยและเครื่องมือต้นแบบการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน (ระยะที่ 2) และสนับสนุนการทำงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น การสร้างเครือข่ายคุณครูที่สนใจด้านการต่อต้านคอร์รัปชันโดยนำผลการวิจัยมาพัฒนาหลักสูตรและบูรณาการสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ต่อต้านคอร์รัปชันและสร้างธรรมาภิบาลในห้องเรียนให้กับคุณครูทั่วประเทศในอนาคต การสร้างเครือข่ายพลเมืองตื่นรู้สู้โกงเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรพันธมิตรด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้านสื่อและด้านวิชาการในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Active citizen ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการร่วมสร้างระบบ Crowdsourcing for anti-corruption platform ผ่าน Line Chatbot โดยมีชื่อว่า “จับตาไม่ให้ใครโกง” เพื่อใช้บริหารจัดการข้อมูลเหตุสงสัยส่อเค้าการทุจริตจากช่องทางต่าง ๆ และใช้ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงจัดทำรายการติดเครื่องชนโกง ออกอากาศทางช่อง ThaiPBS จำนวน 14 ตอน ช่วงเดือน สิงหาคม – พฤศจิกายน พ.ศ 2561 และนำผลการวิจัยในโครงการไปใช้เพื่อปรับปรุงเนื้อหาในเกม เดอะ คอร์รัป ร่วมกับ Opendream เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียน
อีกทั้ง ในด้านวิชาการ ได้วิเคราะห์และถอดบทเรียนในแต่ละพื้นที่ภายใต้โครงการวิจัย (กรุงเทพฯ น่าน นครราชสีมา และแม่ฮ่องสอน) พบว่า ปัญหาคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูงมากและมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริบท ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจบริบทของชุมชนในประเด็นโครงสร้างทางสังคม ลักษณะความสัมพันธ์ภายในชุมชนและบริบทในแง่ของประสบการณ์และความพร้อมของคนในพื้นที่ต่อปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยมองว่าแม้จะเป็นปัญหาในลักษณะเดียวกันแต่สาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมอาจไม่เหมือนกันในทุกพื้นที่ จึงนำมาสู่การออกแบบกระบวนการทำความเข้าใจบริบทของชุมชนในมิติต่าง ๆ เพื่อออกแบบวิธีการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจของคนในพื้นที่ โดยสามารถวิเคราะห์ได้ผ่านกรอบแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและรัฐ (state and society) แนวคิดเศรษฐศาสตร์สถาบัน และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานส่วนตน (personal norms) และบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ภายใต้หัวข้อเงื่อนไขหรือสภาพเดิมในพื้นที่ก่อนการวิจัย (pre-existing condition) เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนที่สามารถนำไปเสริมพลัง (empowerment) ในการทำงานให้กับคนในพื้นที่ผ่านกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ พร้อมทั้งนำมาประเมินศักยภาพของชุมชนเพื่อทำการวิเคราะห์รูปแบบของการสนับสนุนกลไกและเครื่องมือเฝ้าระวังการคอร์รัปชันที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
สามารถรับชมคลิปเสวนาและนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการในพื้นที่ศึกษา ได้ที่นี่
1.กติกาชุมชนสู่วิถีฅนสร้างสังคมธรรมาภิบาล ชุมชนกรุงเทพฯ
2.พลังเครือข่ายชุมชนสู่การเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
3.การเสริมสร้างธรรมาภิบาลโดยชุมชนเป็นฐานผ่านเรื่องราวที่ชุมชนเป็นผู้เลือก อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
4.ต.มะเกลือใหม่ x ต.พระพุทธ โมเดลสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น
Author
Supatja Angsuwan
นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน