โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2

Summary

พัฒนาระบบ กลไก เครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อหนุนเสริมการป้องกันคอร์รัปชันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) โดยนำเสนอแนวทางการป้องกันและต่อต้านการคอร์รัปชันด้วยการสร้าง Prototype กลไก/เครื่องมือที่ใช้งานได้จริง และทำการทดสอบจริงในพื้นที่น่าน นครราชสีมา สงขลา กรุงเทพฯ ชลบุรี และสมุทรสาคร ได้เเก่ ต้นแบบเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชันของสาธารณะ ต้นแบบเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชันของชุมชน กทม. น่าน ต้นแบบเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชันของเยาวชน ต้นแบบเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชันขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เเละคู่มือการใช้ภาษาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน

Insight

โครงการวิจัยย่อย 11 โครงการ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ได้สร้างกลไกต้นแบบป้องกันการคอร์รัปชันที่นำไปปฏิบัติในพื้นที่จริง โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาเครื่องมือให้มีความสะดวกและเหมาะสมต่อการใช้งานในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น ต้นแบบ WebApp ป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของชุมชนกรณีศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ และน่าน ต้นแบบแพลตฟอร์ม We The Students ป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชนในโรงเรียน นำร่อง 3 โรงเรียน เป็นต้น

โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของประชาชนด้วยวิธีการและรูปแบบใหม่ ๆ โดยการพัฒนาเครื่องมือและกลไกเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ น่าน นครราชสีมา สงขลา ชลบุรี และสมุทรสาคร เน้นการสร้างและทดสอบ “สื่อ กลไก และระบบ” ที่เป็นรูปธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ/ค่านิยม พฤติกรรม และทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมนำไปขยายผลจริงในพื้นที่ หน่วยงาน และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง


ผลการศึกษา พบว่า แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชันให้สามารถเห็นผลชัดเจน ต้องยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 7 ยุทธศาสตร์การการสร้างสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน หรือ ยุทธศาสตร์ 7 A เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้


1.) การสร้างความสนใจในการต่อต้านการคอร์รัปชันให้กับประชาชน (Attention) โดยการออกแบบรูปแบบการนำเสนอและรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ เช่น รัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สนับสนุนให้หน่วย ราชการทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ และอยู่ในรูปแบบเดียวกันที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถดึงมาใช้ ประโยชน์ได้ (machine readable) เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อต้านการคอร์ รัปชันได้รวมถึงต้องมีการ update ฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ


2.) การสร้างความตระหนักรู้ต่อการต่อต้านการคอร์รัปชันให้กับประชาชน (Awareness) โดยการพัฒนาแนวทางการสื่อสารของสื่อมวลชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรีกรมประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนทุกแขนง เน้นการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีรูปแบบของการ call to action และให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกัน การปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการ 16 คอร์รัปชันให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ว่าการ ต่อต้านการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปสำหรับพวกเขา


3.) การสร้างทัศนคติที่ดีและความเต็มใจในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Attitude) โดยการออกแบบการทำงานเชิงระบบที่สามารถติดตามตรวจสอบได้ เช่น รัฐบาล ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล และบูรณาการระบบติดตามตรวจสอบข้อคิดเห็นของประชาชนในทุก หน่วยงานเข้าด้วยกัน เนื่องจากประชาชนอาจมีการร้องเรียนการทำงานที่เกิดจากการบูรณาการข้ามหน่วยงาน เช่น ร้องเรียนโครงการร่วมของหลายหน่วยงาน ซึ่งหากการร้องเรียนของประชาชนข้ามหน่วยงานสามารถตรวจสอบได้จะ สร้างทัศนคติที่ดีและความเต็มใจในการร่วมมือกันต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชนได้เป็นอย่างมาก 


4.) การสร้างปฏิบัติการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Action) โดยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่มีกระบวนการป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่มเติมการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการเพื่อต่อต้านการคอร์รัป ชันเข้าไปในหลักสูตร นอกเหนือไปจากการสร้างความตระหนักรู้และการสร้างทัศนคติในทางลบต่อการคอร์รัปชัน เพื่อให้นักเรียนที่จะเป็นประชาชนในอนาคตมีความรู้ความเข้าใจในการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม


5.) การสร้างความเต็มใจในการร่วมมือต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Aggregate) โดยส่งเสริมการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจในวงที่กว้างขึ้น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) สนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกัน ขนาดใหญ่ของประชาชนระหว่างชุมชนใกล้เคียง เช่น การจัดงานบุญร่วมกันทั้งจังหวัดหรือข้ามจังหวัด หรือมีการ ออกแบบนโยบาย หรือมีการจัดสรรงบประมาณร่วมกันข้ามชุมชน เช่น การออกแบบและสร้างศาลาพักร้อนริมทางบน ถนนที่ผ่านในหลายจังหวัดร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถร่วมมือกันในวงขนาดใหญ่ให้ประสบ ความสำเร็จได้


6.) การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมร่วมในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Activities) เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) พัฒนาระบบเทคโนโลยีของประเทศให้เข้าสู่การเป็น smart governance ที่ ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิออกเสียงในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ


7.) การเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการคอร์รัปชันของภาคประชาสังคม (Alliance) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการทำงานร่วมกันขององค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน เช่น เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการทำงานของเครือข่ายอย่าง เต็มที่ และพัฒนาให้แต่ละองค์กรมีความโดดเด่นหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการต่อต้านหรือตรวจสอบการคอร์ รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ


นอกจากนี้ ภายใต้การตัดสินใจดังกล่าว จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ คือโครงสร้างพื้นฐานที่มาจากการเปิดเผยข้อมูลด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data Infrastructure) ได้แก่ องค์ความรู้ เครื่องมือ และข้อมูลเปิดของภาครัฐ และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุน หรือให้คำแนะนำให้เกิดการดำเนินการต่อ (Mentoring Infrastructure) ได้แก่ หน่วยงานและเครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในแต่ละภาคส่วนเป็น เพื่อให้เกิดระบบนิเวศของการเข้ามามีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน กลายเป็นพลังทางสังคมที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ต่อไป 


โดยที่ผ่านมา ได้มีหน่วยงานและองค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันให้ความสำคัญและนำไปขยายผลปรับใช้ เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ELECT.IN.TH สำนักข่าวอิศรา เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคการศึกษา เช่น โครงการเยาวชนตื่นรู้สู้โกง โรงเรียนคุณธรรม หลักสูตรสุจริตไทย เป็นต้น รวมถึง เกิดการพัฒนาต้นแบบเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการมีส่วนร่วมต้านโกงของประชาชน เช่น แพลตฟอร์ม We The Students ต้นแบบเว็บไซต์เครือข่ายเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ANTnetwork เป็นต้น

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน