โครงการสำรวจการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) จากเยาวชน ภายใต้โครงการคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่

Summary

สำรวจทัศนคติของเด็ก Gen Z ที่มีต่อการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลตั้งต้นในการกำหนดกรอบระดมความเห็นบนแพลตฟอร์ม Jam ideation เพื่อจัดทำเป็นคู่มือให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเราเล่มเเรกของไทย โดยการศึกษาใช้วิธีการแบบอุปนัย-นิรนัย (inductive and deductive approach) รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และรวบรวมความรู้พื้นฐาน ความเชื่อ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ Cyberbullying จากเยาวชน จำนวน 30 คน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของการทำความเข้าใจการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในบริบทสังคมไทย

Insight

กลุ่ม Gen Z ให้นิยามการไซเบอร์บูลลี่ว่า เป็นพฤติกรรมการโพสต์ให้ร้ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อต้องการกระจายข่าวสารด้านลบให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอาย โดยที่ผู้กระทำอาจมีความเจตนาหรือไม่ได้เจตนาก็ได้ โดยพบว่ากลุ่ม Gen Z มีประสบการณ์ถูกไซเบอร์บูลลี่ด้วยการถูกเหยียดหยามเรื่องภาพลักษณ์ เพศ ฐานะ ศาสนา รสนิยม และความคิดเห็นมากที่สุด โดยการวิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตา (Body shaming) เป็นพฤติกรรมการไซเบอร์บูลลี่ที่พบได้บ่อยรองลงมา โดยพบว่า ในการกลั่นแกล้งกันจะมีบทบาทของผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และบุคคลที่สาม ซึ่งผลกระทบจากการถูกไซเบอร์บูลลี่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเสียความมั่นใจ หดหู่ และเกิดความหวาดระแวง ปลีกตัวออกจากสังคม จนเป็นสาเหตุของการเป็นภาวะซึมเศร้าและอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย หรือการฆ่าตัวตายได้ ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำมักรับมือกับการถูกไซเบอร์บูลลี่ด้วยการเพิกเฉย ไม่โต้ตอบ ส่วนกลุ่มที่เลือกโต้ตอบอย่างซึ่งหน้ามักจะเป็นกลุ่มที่มีอายุยังน้อยและประสบการณ์ถูกไซเบอร์บูลลี่ยังไม่มาก โดยผู้ที่ถูกกระทำเลือกที่จะนำเรื่องที่ตนเจอไปปรึกษาเพื่อนสนิทเป็นคนแรก เพราะเป็นเหมือน “พื้นที่ปลอดภัย” ที่คอยรับฟัง ทำให้ตนรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ระบาย โดย Gen Z มองว่าหากจะแก้ไขปัญหาการไซเบอร์บูลลี่ต้องเริ่มจากการแก้ไขที่ทัศนคติของตนเองก่อนเป็นสิ่งแรก และการสร้างการรับรู้ บรรทัดฐานใหม่ของสังคมเป็นสิ่งสำคัญ

โครงการสำรวจการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) จากเยาวชน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นกรอบการระดมความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Jam ideation ภายใต้โครงการคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก DTAC โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เพื่อทำความเข้าใจมุมมองของเยาวชนไทยต่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในบริบทสังคมไทย ด้วยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในระดับเยาวชนตั้งแต่อายุ 10 ปี ถึง 20 ปี เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญ และการจัดการกับสถานการณ์การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์ที่กลุ่มตัวอย่างเผชิญ โดยมุ่งไปที่ประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ การให้คำนิยาม (definition) การลำดับความสำคัญ (prioritsing) และการแก้ไข (solving) เพื่อนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้มาสังเคราะห์เป็นมุมมองของกลุ่มตัวอย่างต่อการออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และพัฒนาเป็นคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่ที่มาจากประสบการณ์และการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของกลุ่มเยาวชนอย่างแท้จริง


ผลการวิจัย พบประเด็นสำคัญ 12 ข้อ ได้เเก่

1.) ความเข้าใจในคำว่า Cyberbullying แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุและประสบการณ์ที่เจอ

2.) คำที่กลุ่มเป้าหมายใช้อธิบายการ Cyberbullying ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ตัวเองพบเจอ

3.) กล่มุเป้าหมายส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า การ Cyberbullying เป็นการสื่อสาร เช่น การพิมพ์แชตด่า นินทา คอมเมนต์เหยียด การตอบกลับในสตอรี่อินสตาแกรม มากกว่าการกระทำอื่น ๆ เช่น การส่งต่อข้อมูลเท็จ การปลอมบัญชี การแบล็กเมล

4.) กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เข้าใจว่าการบันทึกหน้าจอภาพ ส่งต่อในแชตส่วนตัว หรือกลุ่มการวิจารณ์เพื่อนที่ทำผิดในเชิงเหยียด ไม่นับเป็น Cyberbullying

5.) ส่วนใหญ่การ Cyberbullying เกิดจากการแกล้งกันในชีวิตจริงแล้วลามมาแกล้งกันบนโลกออนไลน์

6.) ผู้ถูกกระทำโทษตัวเองเมื่อถูก Cyberbullying ว่าเป็นเพราะตัวเองไม่ดีพอ แตกต่างจากคนอื่น

7.) กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ เคยเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและบุคคลที่สาม

8.) บทบาทของบุคคลที่ 3 เช่น นักขุด นักสืบ นักแชร์ มีความสำคัญต่อการ Cyberbullying เพราะไม่ถูกเอาผิดโดยตรงจากสังคม

9.) ความรุนแรงของการถูก Cyberbullying ขึ้นอยู่กับระดับความสนิทสนมของบุคคลที่กระทำ ถ้าเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวจะรู้สึกรุนแรงกว่ามาก

10.) การจัดการความรู้สึกต่อการถูก Cyberbullying ยากกว่าการถูกบูลลี่ ในชีวิตจริง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มีเจตนาอะไร

11.) กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เลือกที่จะแก้ปัญหาการ Cyberbullying ด้วยตนเองเพราะมองว่า มันเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน และไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

12.) การ Cyberbullying ยังถูกยกเว้นให้เป็นเรื่องไม่รุนแรง หากคนที่กระทำเป็นเพื่อนสนิทของเรา


ประโยชน์ของการวิจัยนี้ คือทำให้ได้แนวทางในการนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ต่อ ดังนี้

1.) การกำหนด domain setting ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ โดยสามารถ แบ่งออกเป็น 2 บทบาท ได้แก่ บทบาทบุคคลที่แกล้งผู้อื่น และบทบาทผู้เห็นเหตุการณ์ (bystander)


2.) การออกแบบคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่ (code of conduct) ควรออกแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์


3.) ประเด็นสำคัญมากที่สุดของการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่ควรนำไปอยู่ในคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่ (code of conduct) ได้แก่ การวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่น (body shaming) และ การล้อเลียนทางเพศ (sex parody) ทั้งสองประเด็น ถือเป็นประเด็นที่เด็กให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหลักทฤษฎีทางจิตวิทยาเด็กจะรับรู้ความแตกต่างของสิ่งเหล่านั้นก่อนเป็นอย่างแรก ด้วยเหตุนี้การวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่น จึงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่ เพราะเด็กจะล้อเลียนจากสิ่งที่ตนเองมองว่าผิดแปลก หรือแปลกแยกไปจากเดิม ดังนั้น ควรที่จะออกแบบคู่มือมาตรฐานจริยธรรมการบูลลี่ ที่ทำให้เด็กหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักว่าการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่น และการมีอคติทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อให้เกิดการปลูกฝังถึงความแตกต่างในเรื่องของการยอมรับความแตกต่าง หลากหลายทั้งในด้านรูปลักษณ์ของร่างกายและเพศอีกด้วย


จากผลการศึกษา นำมาสู่การรวบรวมความเห็นผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยการสนับสนุนของ DTAC ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้กลุ่ม Gen Z ได้ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติการกระทำไซเบอร์บูลลี่ในแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา โดยได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก เสียงจากผู้ร่วมให้ความเห็นกว่า 2 แสนคน ได้ถูกนำมาสรุปเป็นสัญญาใจวัย Gen Z 23 ข้อ ในภาษาที่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Cyberbullying

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน