สร้างความท้าทายใหม่ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยการศึกษาและทำความเข้าใจทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับคอร์รัปชันในแต่ละช่วงวัย เพื่อออกแบบมาตรการหรือกลไกสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกหนุนเสริมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันโดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระต่อไป
ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยมีรูปแบบและลักษณะความสัมพันธ์เชิงระบบที่ซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ทัศนคติและพฤติกรรมต่อการคอร์รัปชันของคนที่เกี่ยวข้องและคนในพื้นที่ยังมีความหลากหลายตามช่วงอายุและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะความแตกต่างทั้งหลายนี้ ยังมีจุดร่วมของแต่ละพื้นที่และช่วงอายุที่สามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบเครื่องมือหรือกลไกเพื่อสร้างความตื่นรู้พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ และด้วยการสนับสนุนและร่วมมือขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เครื่องมือหรือกลไกที่พัฒนามาจากองค์ความรู้ทางวิชาการและความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่เหล่านี้ สามารถนำไปขยายผลให้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยได้
โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ภายใต้แผนงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ร่วมกับนักวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันภายใต้เครือข่าย
งานวิจัยในชุดโครงการได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลประสบการณ์คอร์รัปชันระดับครัวเรือน และการแบ่งปันประสบการณ์ร่วม พบว่า รูปแบบการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายซับซ้อนของปัญหาคอร์รัปชัน มีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงระบบ ทัศนคติ และพฤติกรรม โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
ในเชิงระบบ พบว่า การจ่ายสินบนของคนในสังคมไทยมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการติดต่อราชการ ทำให้ช่วยลดการใช้ดุลพินิจ และการมีธุรกิจเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการกับหน่วยงานที่ยังมีระดับการใช้ดุลพินิจที่ค่อนข้างสูงและมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น กรมสรรพากร หรือคดีความที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าได้จ่ายสินบนให้กับหน่วยงานของรัฐลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมอาจต้องพิจารณาดูว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ Privatize สินบนหรือไม่
ด้านทัศนคติ คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการให้สินบนในระดับที่ดี แต่หากเป็นคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น เช่น การช่วยเหลือพวกพ้อง หรือ การช่วยเหลือคนในครอบครัวในทางที่ผิด ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก โดยเฉพาะเป็นการทับซ้อนกับความหมายของคำว่า “น้ำใจ” และ “บุญคุณ” ซึ่งเป็นค่านิยมหลักที่เสริมให้การคอร์รัปชันที่ซับซ้อนกว่ายังดำรงอยู่ในประเทศไทย รวมถึงทัศนคติของคนในระดับท้องถิ่นที่ว่า “ไม่เข้าพวก ไม่เอาพี่เอาน้อง” ส่งผลต่อพฤติกรรมสนับสนุนการทุจริตโดยการรู้เห็นเป็นใจ เพราะความเป็นญาติพี่น้องและความเป็นเพื่อน ทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่นั้นเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน การคดโกง หรือบางคนก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการดำเนินงานโครงการ และบางครั้งอาจเกิดจากการที่คนหมู่มากในชุมชนหรือในหน่วยงานร่วมกระทำผิดด้วย
ด้านพฤติกรรม พบว่า ประชาชนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะไม่รู้จักช่องทาง รวมถึงขั้นตอนในการร้องเรียน ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการมีส่วนร่วม ไม่ทราบว่าจะแจ้งเบาะแสของการคอร์รัปชันที่ตนเองพบเห็นผ่านช่องทางใด ไม่ทราบว่าเมื่อแจ้งเบาะแสแล้วจะติดตามผลได้อย่างไร และไม่มีความไว้ใจเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง นอกจากนี้การที่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน วิธีการตรวจสอบการทุจริต ความเข้าใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐ วิธีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ขาดความรู้ในกระบวนการงบประมาณ ขาดความรู้ในสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันของประชาชนยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
Author
Supatja Angsuwan
นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน