การประเมินความเสมอภาคระหว่างเพศในระดับคณะอนุกรรมการ CoST ประเทศไทย ตามแนวปฏิบัติของ CoST International และจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ภายใต้หลักปฏิบัติ 4 ด้าน (CoST core features) ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างหลักประกันในการเสริมสร้างโอกาสที่เสมอภาคของผู้หญิงในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมสัดส่วนของผู้หญิงในกระบวนการมีส่วนร่วมวางแผน ออกแบบและติดตามตรวจสอบโครงการโดยไม่ถูกกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศ
คณะผู้วิจัย เสนอให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้คณะอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่โครงการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ เช่น ประกาศเจตนารมณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน พ.ศ. 2563 และแผนแม่บทด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายฯ ของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ทัศนคติ และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมผ่านมาตรการ “ส่งเสริม สนับสนุน สื่อสารแนวทางการขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยเสนอเป็นมาตรการระยะสั้น 3 ด้านตามภารกิจหลักของ CoST ประเทศไทยที่มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ CoST เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงภายในกรอบระยะเวลา 1-2 ปี
โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือ CoST ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามแนวทางของ CoST International จึงได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จัดทำรายงานผลการประเมินความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender equality self-assessment) ในระดับคณะอนุกรรมการ CoST ภายใต้แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และกรอบแนวคิดเรื่องความรู้-ทัศนคติ-การปฏิบัติ (Knowledge-Attitude-Practice : KAP) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2564 เพื่อประเมินความพร้อมในการบูรณาการแนวปฏิบัติเข้ากับกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ CoST
โดยได้สำรวจข้อมูลด้านกฎระเบียบ นโยบายและมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศภายใต้กฎหมายที่ประเทศไทยกำหนด ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการ CoST ซึ่งมีหน้าที่กำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และการปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบุด้านที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบแก่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ
ผลการประเมิน CoST ประเทศไทย ผ่านเกณฑ์การประเมินความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender equality self-assessment) ตามแนวปฏิบัติของ CoST International จำนวน 20 ข้อ จากทั้งหมด 26 ข้อ โดยด้านที่ผ่านเกณฑ์สูงสุด ได้แก่ ด้านนโยบายและกระบวนการ (Policies and processes) ผ่านเกณฑ์ ทั้งหมด 8 ข้อจาก 10 ข้อ และด้านวัฒนธรรมและทัศนคติ (Culture and attitude) ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 8 ข้อจาก 10 ข้อ และตามด้วยด้านโครงสร้างและกระบวนการตัดสินใจ (Structure and decision-making) ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อจาก 6 ข้อ ผลประเมินนี้แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของ CoST ประเทศไทย มีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติและแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศทั้งในระดับนโยบาย วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างและกระบวนการตัดสินใจในระดับสูง และพร้อมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว
โดยมีข้อเสนอแนะต่อการหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในกระบวนการดำเนินงานของ CoST ประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมีความรู้ ทัศนคติ และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมผ่านมาตรการ 3 ด้าน ตามภารกิจหลักของโครงการที่มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ CoST เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงภายในกรอบระยะเวลา 1-2 ปี ดังนี้
1.) ส่งเสริมให้มีการประเมินผลด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อสำรวจความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และแนวทางปฏิบัติกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการเป็นประจำทุกปี
2.) สนับสนุนให้มีการบูรณาการเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศเข้ากับกิจกรรมหลักของโครงการ 4 ด้าน (CoST core features) เพื่อสร้างหลักประกันว่าการดำเนินงานของโครงการได้คำนึงถึงการส่งเสริมบทบาทของหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน
3.) สื่อสารผลการขับเคลื่อนงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศสู่สาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารหลักของโครงการ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศให้เป็นที่รับรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงอาจจัดทำสื่อรณรงค์ในรูปแบบที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมด้วย
Author
Supatja Angsuwan
นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน