โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem)

Summary

การศึกษาตัวชี้วัดและมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของภาครัฐจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และความท้าทายของประเทศไทยในการพัฒนาภาครัฐระบบเปิดและสร้างการมีส่วนร่วม และจัดทำข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปบูรณาการสู่แผนการปฏิบัติการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดในระบบราชการจริง อันเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Open Government Partnership (OGP) ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญของประเทศไทยในการปฏิรูปความโปร่งใสทางนโยบายอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม

Insight

รัฐบาลไทยมีความท้าทายที่จะต้องปรับปรุงการบริหารประเทศให้โปร่งใสและเกิดการมีส่วนร่วมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.) ประเทศไทยยังไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกเทียบเท่ามาตรฐานสากล 2.) ประเทศไทยยังมีระดับความโปร่งใสปานกลางค่อนข้างต่ำ 3.) หน่วยงานรัฐยังเปิดเผยข้อมูลน้อย 4.) คนไทยมีส่วนร่วมน้อยกับนโยบายและบริการของรัฐ และ 5.) หน่วยงานรัฐเริ่มมีความร่วมมือกับภาคสังคม แต่ยังขยายผลน้อย

โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้บริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินการศึกษาเรื่องการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) ในระบบราชการให้เกิดขึ้น เพื่อให้ส่วนราชการนำเอาองค์ประกอบของระบบนิเวศดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


โดยคณะผู้วิจัยได้ศึกษาตัวชี้วัดและมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของภาครัฐจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและและความท้าทายของประเทศไทยในการพัฒนาภาครัฐระบบเปิดและสร้างการมีส่วนร่วม และนำผลการประเมินประเทศไทยมาตรวจสอบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมผ่านการสัมภาษณ์ ตลอดจนหลักการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมภาครัฐเปิดและการมีส่วนร่วม เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปบูรณาการสู่แผนการปฏิบัติจริง รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้องค์ประกอบดังกล่าวเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก Open Government Partnership (OGP) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยในการปฏิรูปความโปร่งใสทางนโยบายอย่างเป็นระบบและชอบธรรม


จากการศึกษา พบว่า รัฐบาลไทยมีความท้าทายที่จะต้องปรับปรุงการบริหารประเทศให้โปร่งใสและเกิดการมีส่วนร่วมใน 5 ด้าน ได้แก่


1.) ประเทศไทยยังไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกเทียบเท่ามาตรฐานสากล


2.) ประเทศไทยยังมีระดับความโปร่งใสปานกลางค่อนข้างต่ำ


3.) หน่วยงานรัฐยังเปิดเผยข้อมูลน้อย


4.) คนไทยมีส่วนร่วมน้อยกับนโยบายและบริการของรัฐ


5.) หน่วยงานรัฐเริ่มมีความร่วมมือกับภาคสังคม แต่ยังขยายผลน้อย


ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการบริหารประเทศให้โปร่งใสและเกิดการมีส่วนร่วม จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่


1.) ปรับนโยบายและแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างระบบการเมืองที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ และเสริมเสริมสร้างสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง


2.) การสร้างแรงจูงใจ-ปรับองค์กร เพื่อเสริมสร้างความโปร่งในในระดับองค์กร โดยเริ่มจากการส่งเสริมการตรวจสอบความโปร่งใส และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินข้าราชการการเมืองทุกกรณี และการออกกฎหมายที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อประชาชน


3.) เปิดข้อมูลให้ภาคสังคมมีส่วนร่วม โดยรัฐบาลจะต้องสนับสนุนระบบเปิดเผยข้อมูลและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลเปิดในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine-readable format) ของประชาชน และหน่วยงานภาครัฐต้องสร้างพื้นที่ร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจะต้องริเริ่มแนวคิด Participatory budgeting หรือ Citizen budgeting มาใช้ในกระบวนการงบประมาณ


นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิก OGP รัฐบาลสามารถเสนอแผนปฏิบัติงาน (Action plan) ที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในประเด็นตั้งต้นซึ่งหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมไทยมีความพร้อมดำเนินการ เช่น การขยายการขับเคลื่อนการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม เพื่อส่งเสริมความครอบคลุมและความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการผลักดันโครงการรัฐสภาเปิด (Open parliament) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนในการดำเนินงานและติดตามการดำเนินงานนักการเมืองในการทำงานเพื่อประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมประสิทธิภาพให้กับการพัฒนาภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประเทศไทยในทุกภาคส่วนและครอบคลุมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้ง ยังช่วยยกระดับค่าคะแนนของดัชนีประเมินสากลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่ประเมินประเทศไทย อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีสากลต่อไป

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

GovernanceOpen Government

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน