โครงการแนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People - Centric Justice) ระยะที่ 1

Summary

ศึกษา สำรวจ และประเมินความต้องการกระบวนการยุติธรรม (Justice Needs) และต้นทุนการใช้ประโยชน์ (Costs) จากกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในประเทศไทยจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,000 คน พบว่า ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ฐานะ ความรู้ทางด้านกฎหมาย และความเป็น/ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสาเหตุมาจากระบบที่มีต้นทุนสูงกับมีความซับซ้อน ไม่แน่นอนของกระบวนการ ดังนั้น แนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centric Justice) ควรจะต้องให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นนี้

Insight

จากผลการสำรวจด้านต้นทุนและความต้องการกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ทำให้สามารถสรุปเป็นข้อค้นพบได้ว่า ในการลดต้นทุนการใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมได้มีแนวทาง คือ 1.) การสร้างประสิทธิภาพและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เช่น กองทุนยุติธรรม และ ศูนย์ยุติธรรมชุมชน 2.) การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการลดความซับซ้อน ความยุ่งยากของขั้นตอน และความไม่แน่นอนของกระบวนการ และ 3.) การให้ความรู้ทางกฎหมายที่เหมาะสมกับอายุและฐานะ จะช่วยส่งเสริมให้การรับรู้หรือทัศนคติของประชาชนดีขึ้น ตามกรอบแนวคิด KAP (Knowledge-Attitude-Practice)

โครงการวิจัยแนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People - Centric Justice) ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) โดยมีศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เพื่อสำรวจและประเมินความต้องการกระบวนการยุติธรรม (Justice needs) และต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชน (Costs) เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการสร้างกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยโครงการใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ร่วมกับวิธีการวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Research) และมีแบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล


ที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “กระบวนการยุติธรรม” ที่ถือเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น การแข่งขันในตลาดในเชิงของเศรษฐกิจ หรือการได้รับการบริการจากรัฐที่มีคุณภาพเพียงพอในเชิงของสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น กระแสการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่ผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการได้อย่างเท่าเทียม โดยการมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centric Justice) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความซับซ้อนของกระบวนการยุติธรรม ความไม่เข้าใจในประเด็นสังคมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ตลอดจนปัญหาความไม่เข้าใจในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมของประชาชนทั่วไป


นำมาสู่การวิจัยของโครงการฯ ที่มุ่งเน้นสำรวจประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชนทั่วไปจากการใช้วิธีกาสุ่มเลือกตัวอย่างแบบแบ่งโควต้า จำนวน 2,000 คน จาก 6 พื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามระดับการรับรู้จากประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้แก่

1.) บุคคลทั่วไปที่มีประสบการณ์โดยตรงด้วยตัวเองในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

2.) บุคคลทั่วไปที่มีประสบการณ์ผ่านคนรู้จักใกล้ชิดในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

3.) บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เพื่อทำความเข้าใจความต้องการความยุติธรรมของประชาชนและทราบถึงต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่สามารถลดช่องว่างในการเข้าสู่กระบวนการ ด้วยการออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานความต้องการของประชาชนและมีต้นทุนที่ถูกลง


ผลการศึกษา พบว่า ประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่กระบวนการ สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านฐานะ ความรู้ทางกฎหมาย และความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมาจากสาหตุความซับซ้อน ยุ่งยากของกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนค่าใช้จ่าย เวลา และความรู้สึกกังวลใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่อยู่ในระหว่างกระบวนการ จนกระทั้งสิ้นสุดกระบวนการ ผลการสำรวจยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมที่มีผลต่อการเลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน


ดังนั้น แนวทางในการลดช่องว่างและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าสู่กระบวนการของประชาชนทั่วไปจึงต้องลดต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการให้ถูกลงทั้งต้นทุนเวลา เงิน และความรู้สึกทางด้านจิตใจ เพิ่มการให้ความช่วยเหลือในการเข้าสู่กระบวนการ การให้คำแนะนำ และการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกเข้าสู่กระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาทางกฎหมายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นได้


นอกจากนี้ โครงการฯ ได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากการให้บริการช่วยเหลือของสำนักงานกองทุนยุติธรรมและศูนย์ยุติธรรมชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานบริการช่วยเหลือประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้ง 2 หน่วยงานมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนารูปแบบการทำงานให้มีความชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต รวมถึง ยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาโมเดลการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่จัดเก็บมาวิเคราะห์เพื่อการออกแบบกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย


ทั้งนี้ โครงการฯ ได้นำผลการศึกษาและแนวทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมดังกล่าวมาพัฒนาเป็นงานศึกษาวิจัยแบบต่อเนื่องในระยะที่ 2 โดยมุ่งเน้นการศึกษา เจาะลึกในกลุ่มเป้าหมายที่มีช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการที่ถ่างกว้างกว่ากลุ่มอื่น เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนเปราะบางหรือชายขอบ เป็นต้น ด้วยวิธีการสัมภาษณ์หรือ focus group กับกลุ่มเป้าหมาย โดยอ้างอิงตามวิธีการศึกษาความต้องการความยุติธรรมของ HiiL ร่วมกับการใช้มุมมองแบบ Macro ด้วยการนำวิธีการศึกษาแบบ Natural Language Processing (NLP) มาใช้วิเคราะห์ความต้องการและออกแบบกลไก/ระบบ/กระบวนการเพื่อปิดช่องว่างในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาระยะที่ 2

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน