จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 - 2563 (SDGs) โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอกภาครัฐเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานและประสานข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบข้อสังเกตที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.) การเชื่อมโยง แบ่งปันทรัพยากร และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เห็นได้จากการที่ภาครัฐยังไม่มีฐานข้อมูลหรือตัวชี้วัดที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะใช้ประเมินแต่ละเป้าประสงค์ย่อยตามเป้าหมายที่ 16.5 2.) การทบทวนช่องว่างระหว่างแผนและมาตรการต่าง ๆ ความรู้ทางวิชาการ และความเข้าใจ และการทำงานของผู้ปฏิบัติงานจริงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสถานะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล และ 3.) ควรมีการคัดเลือกตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในประเทศไทยอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างครอบคลุม และการสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมประเมินความเสี่ยง เนื่องจากประเทศไทย มีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันอยู่ค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานในระดับหน่วยงาน ทำให้ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวาง
โครงการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน ภายใต้แผนงาน โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วน เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา 2030 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย
วัตถุประสงค์ในการวิจัย เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ที่มีสถานะวิกฤติที่ได้จากการสังเคราะห์การประเมินสถานการณ์ SDG ประเทศไทยของ SDG Index รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 - 2563 และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนนอกภาครัฐในการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) โดยเฉพาะในด้านการเปิดพื้นที่เชิงนโยบาย (Policy space) และกลไกทางการเงินเพื่อการสนับสนุนองค์กรนอกภาครัฐ โดยเน้นไปที่ประเด็นที่วิกฤติข้างต้น
Author
Supatja Angsuwan
นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน