โครงการวิจัยนวัตกรรมสังคมในวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019

Summary

ศึกษาและสรุปบทเรียนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของนวัตกรรมสังคมในวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และจัดทำข้อเสนอเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมสังคมให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนหลักธรรมาภิบาลที่ช่วยส่งเสริมให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมเเละขยายผลได้อย่างยั่งยืน

Insight

ช่วงสถานการณ์ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2561 สังคมไทยได้มีกลุ่มและโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากมายกว่า 90 โครงการจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยจากการสำรวจข้อมูลแบบสอบถามออนไลน์มีผู้ร่วมให้ข้อมูลโครงการซึ่งจัดเป็น “นวัตกรรมสังคม” จำนวนถึง 31 โครงการ โดยสามารถแบ่งกลุ่มนวัตกรรมสังคมได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ เผยแพร่ข้อมูล ตัวกลางประสานงาน และช่วยเหลือโดยตรง ประกอบกับการมีปัจจัย 3 มี คือ มีแรงจูงใจในการทำเพื่อสังคม มีเป้าหมายอยากช่วยเหลือคนในสังคม และ มีพื้นฐานในการทำงานมาก่อน จึงทำให้กลุ่มนวัตกรรมสังคมสามารถสร้างผลกระทบและขยายการทำงานได้กว้างขวางมากที่สุด

โครงการวิจัยนวัตกรรมสังคมในวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า 2019 ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ร่วมกับ ChangeFusion มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) InfoAid และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมสังคมในด้านการบริหารจัดการโครงการด้วยหลักธรรมาภิบาล และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะด้านการสนับสนุนกลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมสังคมในช่วงวิกฤต ให้สามารถดำเนินงานในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิผล และสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว


ผลการเก็บข้อมูลกับผู้พัฒนานวัตกรรมสังคม จำนวน 31 โครงการที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 สรุปได้ว่า โครงการนวัตกรรมสังคมในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 มีลักษณะเด่นร่วมกัน ทั้งหมด 5 ประการ ได้แก่

1.) โครงการริเริ่มโดยภาคประชาสังคมและภาคเอกชน

2.) ก่อตั้งโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กลุ่มคนที่อาจยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ

3.) ริเริ่มและดำเนินการด้วยตนเองและรวมกลุ่มกันกับเพื่อน เน้นการทำงานด้วยทีมงานอาสาสมัคร

4.) กลุ่มนวัตกรรมสังคมที่มีศักยภาพ คือ กลุ่มนวัตกรรมสังคมที่ดำเนินงานโดยผู้ที่มีแรงบันดาลใจ อยากช่วยเหลือสังคม และสามารถนำทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

5.) รูปแบบการช่วยเหลือโดยตรงเป็นรูปแบบที่นวัตกรรมสังคมในช่วงวิกฤตเลือกทำมากที่สุด


อีกทั้ง โครงการนวัตกรรมสังคมจำนวน 27 โครงการจากจำนวน 31 โครงการต้องการขยายผล การดำเนินงานภายหลังวิกฤตการณ์ เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปประยุกต์ใช้กับประเด็นสังคมในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากวิกฤตการณ์ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ชุมชนและหน่วยงานระดับท้องถิ่นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ ซึ่งการขยายผลการดำเนินงานนั้นต้องมีการวางแผนในด้านการบริหารจัดการโครงการที่ถูกต้องและโปร่งใส ด้วยการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงการวัดประเมินความคุ้มค่าของโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการขยายผลโครงการและการได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชนในฐานะของผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานของนวัตกรรมสังคม 


นอกจากนี้ ยังพบว่า หลักธรรมาภิบาลเพียงบางข้อที่นวัตกรรมสังคมในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า 2019 ให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางการบริหารจัดการโครงการ คือ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของการสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างมีศักยภาพ โดยการส่งเสริมให้นวัตกร (Social Innovators) บริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล จะเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศของการแก้ไขปัญหาสังคมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาวได้


สำหรับผลการศึกษาโครงการฯ ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบการมีส่วนร่วม (Interactive) ให้กับผู้ที่สนใจอยากสร้างโครงการ หรือสนับสนุนนวัตกรรมสังคมใหม่ ๆ ได้ทดลองเล่นที่นี่: นวัตกรรมสังคมแบบไหนที่ใช่คุณ

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Good GovernanceCovid-19Social Innovation

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน