โครงการออกแบบเครื่องมือต้นแบบการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันในระดับเยาวชน ภายใต้โครงการเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน (ระยะที่ 2)

Summary

สร้างความโปร่งใสในโรงเรียน ด้วยเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในระดับเยาวชน ด้วยการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์ม We the students ให้เป็นเครื่องมือส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียน โดยการสนับสนุนให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมตรวจสอบคุณภาพการบริการของโรงเรียนจากสิ่งใกล้ตัว และร่วมรายงานติดตามการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ข้อมูลเปิดของโรงเรียน (Open School Data) เป็นพื้นฐานในการติดตามการบริหารจัดการของโรงเรียน อันจะเป็นการปลูกฝังความตระหนักรู้ต่อการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันตั้งแต่อยู่รั้วโรงเรียน เตรียมความพร้อมให้เยาวชนในการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยในอนาคต

Insight

การมีเครื่องมือหรือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำจริงและหยิบยกปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขามาแก้ไข ก่อนจะขยับไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันนอกรั้วโรงเรียน จะช่วยสร้างจิตสำนึกในการทำงานเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันที่สำคัญในอนาคตได้ โดยแนวทางการปลูกฝังรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องมือและทรัพยากรในการต้านโกงเพื่อให้นักเรียนได้เข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการลงมือทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนของเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการออกแบบพื้นที่หรือโครงการที่ดำเนินการโดยนักเรียนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในกลุ่มและสร้างความตระหนักรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ดีกว่าการปลูกฝังผ่านการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

โครงการวิจัยการออกแบบเครื่องมือต้นแบบการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันในระดับเยาวชน ภายใต้โครงการเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน (ระยะที่ 2) ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและออกแบบเครื่องมือต้นแบบที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ครู ผู้ปกครอง และชุมชนได้มีส่วนร่วมตรวจสอบคุณภาพการให้บริการของโรงเรียนด้วยการใช้ข้อมูลเปิดของโรงเรียน (Open School Data) เช่น ข้อมูลครุภัณฑ์ ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลงบประมาณ เป็นต้น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะนักเรียนได้เกิดการเรียนรู้หน้าที่ของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการร่วมตรวจสอบบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนภายใต้การใช้หลักธรรมาภิบาล (School Governance)


จากสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนในสื่อโซเชียลออนไลน์ที่ร่วมกันออกมาส่งเสียง แสดงความเห็นและตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการของโรงเรียนผ่านการใช้ # ในทวิตเตอร์ เช่น #โรงเรียนมัธยมหลังเขา #โรงเรียนชื่อดังย่านเอกชัย หรือ #savebcc เป็นต้น กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนักเรียนในการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการและสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนของตนให้มีคุณภาพมากขึ้น


จึงนำมาสู่งานวิจัยของโครงการฯ ที่มีแนวคิดในการเปลี่ยนความตึงเครียดให้กลายเป็นความร่วมมือผ่านการมีส่วนร่วมของนักเรียน (From Tension to Participation) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่นำร่อง 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ และโรงเรียนวัดบางกะพ้อม (คงลาภยิ่งประชานุสรณ์) ด้วยการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมเชิงปฏิบัติในการสำรวจ ตรวจสอบคุณภาพการบริการโรงเรียน และเสนอความเห็นเพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรม School Through Our Eyes ร่วมกับการใช้ข้อมูลเปิดของโรงเรียนที่โครงการฯ ได้รวบรวมข้อมูลเปิดจากระบบ EMIS และจัดทำให้อยู่ในรูปแบบที่อ่านง่าย สะดวกต่อการดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ โดยโครงการได้นำกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติดังกล่าว พร้อมด้วยชุดข้อมูลเปิดโรงเรียนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลมาพัฒนาเป็นต้นแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ “We The Students” ที่เป็นพื้นที่สนับสนุนให้นักเรียนได้เข้าถึงข้อมูล ร่วมสำรวจ และรายงาน ติดตามการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของโรงเรียน


ผลการศึกษาพบว่า การส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไก ได้แก่


1.) กลไกการเปิดเผยข้อมูล (Open) ที่โรงเรียนเป็นผู้เปิดข้อมูลโรงเรียนให้นักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานต่อ


2.) กลไกการมีส่วนร่วม (Join) ด้วยการเปิดรับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากนักเรียนซึ่งเป็นผู้ใช้งานอุปกรณ์และสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนเป็นประจำ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับทราบและนำไปดำเนินการปรับพัฒนาต่อไป


3.) กลไกการตรวจสอบ (Learn) ที่สนับสนุนให้นักเรียนได้ใช้ข้อมูลของโรงเรียนในการร่วมตรวจสอบและสำรวจคุณภาพของสิ่งรอบตัวที่ตนเองใช้งานอยู่เป็นประจำ นำไปสู่การติดตามและตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนจากการมีส่วนร่วมของนักเรียนได้อย่างมีศักยภาพ และสร้างสรรค์


ทั้งนี้ โครงการฯ เห็นถึงโอกาสในการสร้างผลกระทบด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนผ่านการใช้งานต้นแบบแพลตฟอร์ม We The Students ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น จึงได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เห็นชอบให้นำต้นแบบแพลตฟอร์มมาพัฒนาต่อภายใต้ “โครงการส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (School Governance)” โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ในการขับเคลื่อนโครงการ สามารถเข้าไปใช้งานได้แล้วที่เว็บไซต์ : โรงเรียนโปร่งใส

SHARE:

TAG ที่เกี่ยวข้อง:

Good GovernanceการศึกษาAnti-Corruption

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน