โครงการสำรวจกรณีศึกษาของเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก

Summary

สำรวจเครื่องมือต้านโกงจากทั่วโลกในมิติต่าง ๆ จำนวน 30 เครื่องมือ เช่น การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบงบประมาณ การเเจ้งเบาะเเส เเละการรายงานการทุจริต โดยนำมาถอดบทเรียนด้านหลักการออกแบบเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความสำเร็จจากการใช้เครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน และปัจจัยร่วมให้เกิดความสำเร็จในการใช้เครื่องมือมาแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นคัมภีร์ How to การสร้างเครื่องมือต้านโกงให้สำเร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเครื่องมือต้านโกงในไทย เเละส่งเสริมให้เครื่องมือที่มีอยู่เเล้วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Insight

4 ปัจจัยความสำเร็จของการใช้เครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ 1.) ข้อมูลเปิดตามมาตรฐาน Open 2.) มีกฎหมาย/นโยบายส่งเสริมความโปร่งใส 3.) จัดการข้อร้องเรียนจากประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.) ออกแบบโดยคำนึงผู้ใช้เป็นหลัก

บริษัท เเฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับมอบหมายจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ดำเนินการจัดทำกรณีศึกษาของเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเครื่องมือต้านโกงจากทั่วโลกจำนวน 30 เครื่องมือ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และถอดบทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาเครื่องมือการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อนำมาประยุกต์และต่อยอดในการสร้างเครื่องมือต้านโกงในประเทศไทย และพัฒนาเครื่องมือที่มีอยู่แล้วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


จากการรวบรวมเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2563 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 30 เครื่องมือ ผู้เขียนจึงได้ดำเนินการถอดบทเรียนกลไก

การดำเนินงานของเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการในการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือ พบว่า แต่ละเครื่องมือล้วนมีหลักการที่สำคัญร่วมกัน 3 ประการ ได้แก่


1.) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำเสนอความคิดเห็น การประเมินความพึงพอใจ การร้องเรียนปัญหา และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบาย


2.) หลักความโปร่งใส (Transparency) ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปใช้กำกับติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมถึงเปิดเผยข้อร้องเรียนสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ


3.) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) ด้วยการมุ่งกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการข้อร้องเรียน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ และนำข้อมูลที่ได้จากประชาชนไปใช้ปรับปรุงการทำงานของหน่วยงาน เป็นต้น 

Author

Supatja Angsuwan

นักวิจัยสายสตรอง สนุกกับการเป็นแม่ และจะไม่หยุดทำงาน จนกว่าเด็กทุกคนจะได้เติบโตขึ้นในสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน